xs
xsm
sm
md
lg

แก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ลดค่าปรับคนขายซีดีเถื่อน ไม่มีเงินจ่ายให้ทำงานบริการสังคมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ 2 ประเด็นให้ลดโทษค่าปรับที่ฝ่าฝืนกรณีขายซีดีเถื่อน และกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่มีเงินเสียค่าปรับ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นได้ เพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทน ขณะที่ผู้ประกอบการเร่ แผงลอยที่ไม่มีใบอนุญาต ที่ประชุมเสนอให้ออกใบอนุญาตชั่วคราว

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีผู้ประกอบการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้กล่าวภายหลังสัมมนา ว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปที่มีการเสนอถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใน 2 ประเด็นด้วยกันคือ 1.ในมาตรา 4 ที่จะให้เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ประกอบกิจการ” เพื่อความชัดเจนในการวินิจฉัยและเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยให้มีการแยกเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ประกอบการเร่ แผงลอย การจำหน่ายภาพยนตร์ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า คำนิยามเดิมมีความชัดเจนเพียงพออยู่แล้วที่จะให้ศาลวินิจฉัยได้ ดังนั้น จึงไม่จะเป็นต้องมีการแก้ไข ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยที่ไม่มีใบอนุญาต ที่ประชุมเห็นว่า ควรดำเนินการออกใบอนุญาตชั่วคราว เช่น งานเทศกาล งานกาชาด งานเทศกาลตามประเพณีต่างๆ ซึ่งในเรื่องนี้ กรมส่งเสริมทางวัฒนธรรม (สวธ.) จะต้องนำไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะออกใบอนุญาตชั่วคราวได้หรือไม่

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ประเด็นที่2.ให้มีการแก้ไขบทกำหนดโทษทางอาญา มาตรา 78 และมาตรา 79 โดยในมาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคสอง มาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่จาก 200,000-1 ล้านบาท แก้ไขเป็น 80,000-1 ล้านบาท ขณะที่มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 31 วรรค 1 หรือประกอบกิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 200,000-1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน แก้ไขเป็น 80,000-1 ล้านบาท นอกจากนี้ ก็มีมาตรา 82 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 วรรคหนึ่ง มาตรา 54 วรรคหนึ่ง หรือประกอบกิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน แก้ไขเป็น 40,000-500,000 บาท ซึ่งการปรับข้อกฎหมายนี้ ก็เพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้กฎหมายที่มีการปรับแก้ยังยืดหยุ่นในเรื่องของค่าปรับ หากผู้กระทำผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อขอทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรณีและดุลยพินิจของศาลด้วย

“การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ครั้งนี้เกิดจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว มีบทกำหนดโทษไว้อย่างตึงตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในคดีของพนักงานเก็บขยะ และคดีนักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีที่กระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นเราจึงต้องขอความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามข้อสรุปดังกล่าว สวธ.จะนำเสนอที่ประชุมผู้บริหารวธ.ปลายเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป และคาดว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ทันคณะรัฐมนตรีชุดนี้” ปลัด วธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น