xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬาราชมนตรี” หวั่นมีผู้อยู่เบื้องหลัง ร.ร.ห้ามเด็กสวมฮิญาบมาเรียน สั่งเร่งสร้างความเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผอ.มัธยมวัดหนองจอก รับห้าม นร.มุสลิมสวมฮิญาบมาเรียนจริง เหตุ ร.ร.อยู่ในเขตวัด ระบุ นักเรียน ผู้ปกครอง อุทธรณ์คำสั่งได้ ด้าน ศน. ย้ำไม่มีเกณฑ์ห้าม ปชช.ต่างศาสนา เข้าศาสนสถานของศาสนาอื่น เสนอทุกฝ่ายทำข้อตกลงร่วมกัน ขณะที่ จุฬาราชมนตรี หวั่นมีคนอยู่เบื้องหลัง ชี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก สั่งเร่งสร้างความเข้าใจทุกมิติ

วันนี้ (7 มี.ค.) นายประพนธ์ หลีสิน ผู้อำนวยโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก กล่าวถึงกรณีห้ามนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิมมาโรงเรียน ว่า โรงเรียนห้ามนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบมาโรงเรียนจริง แต่ได้ผ่านการพิจารณา และคำตัดสินของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2553 โดยมีนักเรียน 17 คน เข้ายื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตให้สามารถสวมฮิญาบมาโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง สพฐ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 2 และผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งมีคำตัดสินว่าห้ามนักเรียนสวมฮิญาบมาโรงเรียน ด้วยเหตุผลว่าโรงเรียนตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด และโรงเรียนก็มีระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายอยู่แล้ว ภายหลังคำตัดสิน กลุ่มนักเรียนและผู้ปกครองมีเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ก็ไม่ได้กระทำการใด จึงถือว่าคำร้องดังกล่าวตกไปแล้ว การสวมฮิญาบมาโรงเรียนจึงเป็นข้อห้าม แต่อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องการยื่นเรื่องใหม่ก็สามารถทำได้ โดยทางโรงเรียนก็จะส่งเรื่องไปที่ สพฐ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหลังจากคำตัดสินแล้วก็ไม่พบมีปัญหาระหว่างนักเรียนพุทธหรือมุสลิมแต่อย่างใด โดยส่วนตนเห็นว่านักเรียนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และสิทธินั้นต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้วยเช่นกัน

นายสุรศักดิ์ ศรีสว่างรัตน์
ผอ.สพม.เขต 2 กล่าวว่า นักเรียนชั้น ม.1-ม.5 ร.ร.มัธยมวัดหนองจอก จำนวน 17 คน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการอิสลามเพื่อสันติ ได้ทำเรื่องขออนุญาตให้นักเรียนใส่ฮิญาบ ซึ่งทางโรงเรียนชี้แจงว่ามีระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนอยู่ ซึ่งเมื่อร้องขอมาจะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการสถานศึกษา หากกรรมการพิจารณาแล้วอนุญาตให้แต่งได้ ทางโรงเรียนก็จะไปแก้ระเบียบเครื่องแต่งกายนักเรียนให้ แต่ทางกรรมการไม่อนุญาต และแจ้งนักเรียนแล้ว ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองก็เข้าใจดี ที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ในระดับโรงเรียนก็ไม่มีปัญหา หลังจากโรงเรียนห้ามแล้วก็แจ้งสิทธิให้นักเรียนทราบว่าสามารถอุทธรณ์ไปที่เขตพื้นที่ได้ แต่ก็ไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ

“จริงๆ แล้วผมไม่อยากให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่ามีการทำความเข้าใจกับนักเรียนแล้ว และนักเรียนก็ไม่ได้ติดใจอะไร อยากจะบอกว่า ตอนไม่อนุญาตให้แต่ง ก็แจ้งสิทธิอุทธรณ์ให้นักเรียนแล้ว ซึ่งนักเรียนก็เข้าใจ” ผอ.สพท.เขต 2 กล่าว

นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ศน.ไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่ห้ามมิให้บุคคลที่แต่งกายตามศาสนาที่ตนนับถือเข้าไปในอาณาบริเวณของศาสนาอื่น เพียงแต่ต้องมีกติการ่วมกัน เช่น การที่ชาวต่างชาติเข้าไปเยี่ยมชมภายในบริเวณวัดพระแก้ว ก็มีกติกาว่าให้แต่งกายให้สุภาพ ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น เป็นต้น และชาวมุสลิมก็สามารถเข้าไปในบริเวณวัดพุทธได้ เพียงแต่ไม่เข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูป เพราะชาวมุสลิมไม่นับถือรูปเคารพ ส่วนในกรณีนี้ทางผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง วัด และผู้ที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันตั้งข้อตกลงเกี่ยวกับการแต่งกายของนักเรียนมุสลิมที่ต้องเข้าไปเรียนในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพุทธให้ชัดเจน โดยส่วนตัวเห็นว่าการแต่งกายตามศาสนาที่นับถือไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนแต่อย่างใด ในทางกลับกันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางศาสนา นักเรียนต่างศาสนากันควรมีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมที่สามารถร่วมได้ อย่างเช่น การเรียนหนังสือ

ด้าน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจกันอยู่ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องสร้างความเข้าใจ และวันที่ 9 มี.ค.นี้ ตนได้รับเชิญจากประเทศเยอรมนี เพื่อไปดูนโยบายเกี่ยวกับการกีดกั้นทางวัฒนธรรม เพราะในประเทศเยอรมนี มีมุสลิมอยู่จำนวนมาก และรัฐบาลเยอรมนี ก็พยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ไม่ให้เกิดการปะทะ หรือความรุนแรง จะไม่ให้มีการปิดกั้น หรือปิดกันทางวัฒนธรรม

“ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะในอดีตไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น คิดว่า คงต้องเป็นอย่างนั้น และเราก็ต้องอยู่อย่างนั้นต่อไป ทางที่ดีต้องมีการสร้างความเข้าใจ อะไรที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนา ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนก็ต้องเข้าใจ มิติของการคุมผมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในโลกนี้ มีอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ แม้แต่ในประเทศยุโรป สิงคโปร์ ซึ่งมีคนจีนอยู่ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ก็เห็นการคลุมฮิญาบของเจ้าหน้าที่ราชการ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ได้อ่อนไหวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องพัฒนาไปสู่ตรงนั้น ก็หวังว่า จะมีความเข้าใจกันได้ ซึ่งเรื่องนี้มี ส.ส.ในพื้นที่ทำความเข้าใจอยู่” จุฬาราชมนตรี กล่าว

ขณะที่ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่ ซึ่งตนมอบให้ สพม.เขต 2 เข้าไปเจรจาประสาน และให้แนวทางไปว่าควรพยายามจะให้อยู่กันภายใต้ความแตกต่าง และหลากหลาย ให้เป็นสังคมสมานฉันท์ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับศาสนา การแต่งกายก็เป็นวิถีชีวิตหนึ่งของศาสนา ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ อะลุ่มอะล่วย ไม่แข็ง ไม่ตึง จนเกินไป ค่อยเจรจากันทุกฝ่าย แล้วจึงมาดูว่าฝ่ายไหนคิดอย่างไร ต้องรับฟังและนำมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นให้เป็นอำนาจของทางโรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา ไปตกลงกันก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้มาอุทธรณ์ที่เขตพื้นที่ หากตัดสินใจไม่ได้จึงจะส่งเรื่องมายัง สพฐ.ดำเนินการต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น