xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากแข่ง EMS RALLY กู้ชีพฉุกเฉิน สพฉ.ชี้ หากระบบช่วยดี กู้ชีพเพิ่ม 12,000 คนต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฉ.จัดแข่งขัน EMS RALLY ระดับประเทศครั้งที่ 1 ฝึกปฏิบัติพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รับมือผู้ใช้บริการสายด่วน 1669 คาด ยอดใช้บริการเพิ่มอย่างก้าวกระโดดเป็น 1.9 ล้านครั้ง ในปี 2555 ชี้ หากมีระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้เพิ่ม 9,000-12,000 คนต่อปี

วันนี้ (6 มี.ค.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการแข่งขัน Emergency Medical Services RALLY “EMS RALLY” ระดับประเทศ ครั้งที่ 1 ปฏิบัติการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันปฏิบัติกู้ชีพ หรือ EMS RALLY ถือเป็นการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และฝึกปฏิบัติการกู้ชีพ เพื่อเพิ่มทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ ให้เกิดความชำนาญ ถูกต้องตามมาตรฐานสากล

การแข่งขัน EMS RALLY แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จาก เขตต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกจากระดับเขต โดยมีการสมมติเหตุการณ์ที่จำลองขึ้นมาให้เหมือนสถานการณ์จริง เพื่อให้ทีมกู้ชีพได้แสดงความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งการ การประเมิน และควบคุมสถานการณ์ การให้คำแนะนำผู้ที่อยู่ ณ จุดเกิดเหตุ การประเมินสภาพผู้ป่วยฉุกเฉิน การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ การยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม โดยใช้หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลตามมาตรฐานระบบการแพทย์ ฉุกเฉินของประเทศไทย สำหรับกฎกติกาที่ใช้ในการแข่งขัน กำหนดขึ้นจากการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการแข่งขัน EMS (EMS Competition) จากประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สเปน สาธารณรัฐเช็ก มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมทั้งได้รวบรวมและวิเคราะห์ประสบการณ์ในการจัดการแข่งขัน EMS Rally ในประเทศไทย นำมาเป็นกฎกติกาที่ใช้ในการแข่งขัน EMS Rally ครั้งนี้

“การฝึกปฏิบัติการกู้ชีพจะนำไปสู่การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ อีกทั้งทำให้ทีมกู้ชีพได้เรียนรู้ในการออกปฏิบัติการท่ามกลางสภาวะการกดดัน ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก สภาพภูมิอากาศที่บางครั้งอาจจะไม่เอื้ออำนวย ท่ามกลางฝูงชนมากมาย หรือในสถานการณ์ภัยพิบัติ ผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราไม่รู้ว่า เวลาใด สถานการณ์ใด จะมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินบ้าง ดังนั้น จึงต้องตื่นตัว และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา EMS Rally จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาให้บุคลากร โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีภาระหน้าที่สำคัญ ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคน” นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกวิธี และทันเวลาแล้ว อาจทำให้เกิดการสูญเสียอวัยวะ หรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะได้ ดังนั้นหากมีระบบปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและ เหมาะสมจะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเหล่านี้ ได้ประมาณปีละ 9,000-12,000 คน อีกทั้งสถิติของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2554 จะมีผู้ใช้บริการสายด่วน 1669 เพื่อขอช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านครั้ง และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 1.99 ล้านครั้ง ในปี 2555

ทั้งนี้ เมื่อจบการแข่งขัน EMS RALLY ระดับประเทศครั้งที่ 1 ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เขต 12 ประกอบด้วย ทีมจาก จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และ จ.กาฬสินธุ์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีมจากเขต 3 ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ จ.นครนายก จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี และรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ทีมจากเขต 1 จากจ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี

ส่วนชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เขต 10 ประกอบด้วย จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย จ.เลย รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ เขต 12 ประกอบด้วยทีมจาก จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธ์ และรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ ทีมจากเขต 14 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม นี้ ทาง สพฉ.จะจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะเน้นพัฒนาทั้งในเรื่องคุณภาพการปฏิบัติงานทางการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ฉุกเฉินให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จำนวน 1,200 คน มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน ประสบการณ์ของสหวิชาชีพ และเป็นการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ นภาคีเครือข่าย โดยมีการเสนอแนวทางการทำงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เป็นแบบอย่างแก่พื้นที่ อื่นๆ พร้อมการสร้างระดับความตื่นตัวของสังคมไทยในการจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการเจ็บ ป่วยที่เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เกิดน้อยที่สุด และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานจนพ้นภาวะฉุกเฉิน รือได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ทั่วถึง ละเท่าเทียม ทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น