xs
xsm
sm
md
lg

สภานายจ้างร้อง สตง.ปกส.ขัด รธน.50 เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
สภาองค์การนายจ้าง ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุประกันสังคมขัดรัฐธรรมนูญ ปี 50 เลือกปฏิบัติรักษาสุขภาพ ย้ำ ไม่ต้องการลดเงินสมทบ แต่อยากให้ไปเพิ่มสิทธิด้านอื่น

วันนี้ (2 มี.ค.) นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 30 ที่กำหนดว่าการเลือกปฏิบัติในเรื่องสุขภาพจะกระทำมิได้

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า กฎหมายมีความเหลื่อมล้ำ เพราะ พ.ร.บ.ประกันสังคมเกิดขึ้นในปี 2533 ขณะที่ปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง เพื่อดูแลประชาชนโดยมีรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องงบประมาณ ขณะที่กลุ่มผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนเพื่อสิทธิในการรักษาพยาบาลตนเอง รวมทั้งถูกตัดสิทธิในการใช้บัตรทองด้วย ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดความขัดแย้งในสังคม

“เราอยากให้รัฐดูว่ากฎหมายประกันสังคมขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคนอื่นรักษาฟรีแต่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบ” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะนายจ้างเห็นว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ประเด็นสำคัญที่สุด คือ ต้องมีการแก้กฎหมายให้รัฐดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาของ สปส.ด้วยการพยายามปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะที่สุดแล้วรัฐยังไม่ได้ดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันอยู่ดี

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการลดต้นทุนการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง เพราะยังต้องจ่ายสมทบเท่าเดิม แต่เรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลการรักษาพยาบาลฟรีแล้วนำเงินสมทบที่จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลเดิมไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินสงเคราะห์บุตร หรือเงินบำนาญชราภาพ

“เหมือนซื้อกาแฟ ผมจ่าย 10 บาท อีกคนไม่ได้จ่ายแถมกาแฟผมยังขมกว่า จะบอกว่าเดี๋ยวเพิ่มน้ำตาลให้จะได้หวานเท่ากันก็ไม่ถูกเพราะผมยังจ่าย 10 บาทอยู่ จริงๆ ต้องได้ฟรี ผมจะได้เอาเงินไปซื้ออย่างอื่น” นายประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว สภาองค์การนายจ้างจะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ต่อไป และหากไม่มีความคืบหน้าจากฝ่ายรัฐบาลอาจถึงขั้นต้องฟ้องศาลปกครองต่อไป

นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะพิจารณาคำร้องว่าอยู่ในอำนาจหรือไม่ จากนั้นจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง ทั้งนี้ หากเห็นว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมขัดกับรัฐธรรมนูญ จะได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมพิจารณา หากเป็นกรณีที่มีคำสั่ง การกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาตัดสิน แต่หากพบไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางข้อกฎหมาย การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจะมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานให้มีการแก้ไขปรับปรุงในการดำเนินการได้ โดยใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น