xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอจี้ ครม.ปิดเหมืองวังสะพุงผงะตรวจเลือดพบโลหะหนักอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เปิดรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเผยผลตรวจเลือดคนใกล้ๆ เหมืองทอง จ.เลย พบสารโลหะหนักเพียบ เอ็นจีโอเตรียมจี้ขอ ครม.ปิดเหมือง วังสะพุง

วานนี้ (1 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็นกรณี “เหมืองแร่ทองคำ : ความมั่งคั่งหรือทุกขภาวะ” พร้อมทั้งเปิดรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA เป็นครั้งแรก โดย นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องนี้มีช่าวบ้านร้องเรียนมานาน แต่ไม่มีการตรวจประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอย่างจริงจัง ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) เลย ร่วมกับโรงพยาบาลวังสะพุง ได้ทำโครงการศึกษาวิจัยการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนผู้อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ ประกอบด้วย บ้านห้วยผุก กกสะทอน นาหนองบง แก่งหิน โนนผาพุงพัฒนา และบ้านภูทับฟ้า จำนวน 474 คน ในปีงบประมาณ 2552 โดยดำเนินการเจาะเลือดระหว่างวันที่ 5-6 และ 19-21 มิถุนายน 2553 ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า สารโลหะหนักปนเปื้อน โดยเฉพาะปรอท พบปนเปื้อนในเลือดของทุกคน โดย 38 คนมีค่าเกินมาตรฐาน และตรวจไม่ได้ถึง 60 คน

นพ.ปัตพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ พบมีไซยาไนด์ในเลือด จำนวน 348 คน โดย 84 คนมีค่าเกินมาตรฐาน มี 23 คนที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่สามารถตรวจได้ มีเพียง 103 คนที่ไม่พบไซยาไนด์ในเลือด ขณะเดียวกันยังพบตะกั่วในเลือดของทุกคน โดย 1 คนมีค่าเกินมาตรฐาน และตรวจไม่ได้ 10 คน สำหรับการตรวจพบครั้งนี้ คาดว่ามาจากการรับสารตกค้างในน้ำ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งบางคนเกิดผดผื่น มีปัญหาผิวหนัง ที่สำคัญยังส่งผลให้สัตว์เลี้ยงตาย สำหรับไซยาไนด์นั้น แม้ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า ไม่ได้เกินค่ามาตรฐาน แต่หากได้มีปริมาณมากจะส่งผลต่อกลไกการเผาผลาญของออกซินเจน ทำให้สมองและหัวใจถูกทำลาย และเสียชีวิตในที่สุด ส่วนปรอท ตะกั่ว เป็นสารโลหะหนัก ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท เกิดการสูญเสียความทรงจำ เป็นต้น นอกจากส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ไก่ สุนัข ทยอยตายโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย

นพ.ปัตพงษ์กล่าวอีกว่า การประเมิน HIA ถือเป็นเรื่องที่บริษัททุกแห่งควรดำเนินการ ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ มีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยมีข้อหนึ่งระบุชัดว่า บริษัทต้องตั้งงบประมาณในส่วนของการป้องกันผลกระทบ หรือการมีเงินจำนวนหนึ่งให้ชุมชนไปดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าดีมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ดำเนินการเลย

ด้าน นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ หัวหน้างานรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จ.เลย กล่าวว่า ขณะนี้ในหมู่บ้านมีสารโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในหมู่บ้านได้เลย ต้องไปซื้อน้ำจากนอกหมู่บ้านมาใช้ หากชาวบ้านคนใดไม่มีกำลังทรัพย์ และไปใช้น้ำในหมู่บ้านก็จะได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีผื่นขึ้นตามตัว อย่างไรก็ตาม จะมีการเรียกร้องขอให้ ครม.มีมติปิดเหมืองด้วย แต่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ที่มาของสารพิษ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันชัดเจนอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น