xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยเฮ! คกก.สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ ปลูกถ่ายตับในเด็กต่ำกว่า 18 ปีแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คกก.สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ ปลูกถ่ายตับในเด็กต่ำกว่า 18 ปี ช่วยผู้ป่วยท่อน้ำดีตีบตันมีโอกาสหายได้สูงถึง 95% พร้อมเพิ่มยารักษาเลือดออกในกระเพาะเข้าบัญชียาหลักฯ อีก 1 รายการ

วันนี้ (21 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในวันนี้ที่ประชุม คกก.สปสช.มีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนที่อยู่ในโครงการรักษาฟรี ในเรื่องการให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ท่อน้ำดีตีบตันโดยพบว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายได้สูงถึง 95% และหากไม่ดำเนินการผ่าตัดอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้ มีโรงพยาบาล 4 แห่งที่ดำเนินการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยพบสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาระหว่างปี 2547-2553 จำนวน 43 ราย 2.รพ.รามาธิบดี 36 ราย 3.รพ.มหาราช เชียงใหม่ 9 ราย และ 4.รพ.ศิริราช 4 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันมีราว 60-80 รายต่อปี โดยผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเสียค่ารักษาเฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาท ค่ายาเฉลี่ยรายละ 1.4 แสนบาท โดยจะเริ่มนโยบายดังกล่าววันที่ 1 ต.ค.2554 เป็นต้นไป คาดว่าจะใช้งบประมาณราวปีละ 50 ล้านบาท
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ทางที่ประชุมได้มีมติให้เอายารักษาเลือดออกในกระเพาะอาหารที่ชื่อว่า โซมาโตสเตติน อะซีเตท (Somatostatin Asetate) ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วเอายาออกทริโอ ไทด์ เสตอไรล์ โซลูชัน (octreotide Sterrile Solution) หรือ ยา (Somatostatin Analogue) โซมาโตสเตติน แอนาลอค นั่นเองเข้าบัญชียาหลักฯ แทน เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบยาทั้ง 2 ประเภทพบว่า ออกทริโอไซด์ มีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่า และมีราคาที่คุ้มทุน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลาขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด มีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ใน 15,000 ของทารกคลอดมีชีวิต หรือคิดเป็น 0.007% ทั้งนี้ในจำนวนเด็กที่ป่วยราวปีละ 60-80 รายทั่วประเทศ ร้อยละ 50 ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ กล่าวคือ ประมาณ 40 รายต่อปี ในทุกสิทธิ ซึ่งพบว่า การปลูกถ่ายตับนั้นทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น