xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิกยานอกบัญชี 9 กลุ่ม คุ้มหรือเสี่ยง!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...จารยา บุญมาก

หลังจากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกมาประกาศว่า จะมีมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลัก สำหรับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ถึง 9 กลุ่ม นับเป็นประเด็นที่ทำให้วงการข้าราชการไทยต้องสะดุ้ง สะเทือนกันไม่น้อย โดยในเบื้องต้นได้ยกเลิกการจ่ายยาในกลุ่มยาลดข้อเข่าเสื่อมไปแล้ว ซึ่งกรมบัญชีกลาง มั่นใจว่า สามารถจะประหยัดงบประมาณได้กว่า 400 ล้านบาท

ขณะที่อีก 8 กลุ่มที่เหลือนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ประกอบด้วย 1.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 2.กลุ่มยาป้องกันโรคกระดูกพรุน 3.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 4.กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ 5.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 6.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 7.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และ8.กลุ่มยารักษามะเร็ง โดยหากยกเลิกได้สำเร็จมีการคาดการณ์ว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับแนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา สํานักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ในสังกัด สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีการศึกษาสถานการณ์การใช้ยาในสวัสดิการข้าราชการแล้วพบว่ามีอัตราที่สูงเกินความจำเป็น จึงพยายามคิดหาวิธีการในการควบคุมการสั่งจ่ายยาในระบบดังกล่าว

โดยนพ.สัมฤทธิ์ ศรีธํารงสวัสดิ์ กรรมการและเลขานุการ สวปก.ยืนยันว่า กล่าวว่า ในปี 2552-2553 พบว่า รพ.ขนาดใหญ่ที่ข้าราชการเข้าใช้บริการสาธารณสุขนั้นเรียกเก็บค่ายาแต่ละปีใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาลดไขมัน มีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท ยาโรคมะเร็งมีราว 1,300 ล้านบาท ยาต้านการอักเสบราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบประกันสังคม และผู้ใช้สิทธิรักษาฟรีแล้วพบว่า การเบิกจ่ายยาในระบบข้าราชการนั้นคิดเป็นหนึ่งเท่าตัวของทั้งทั้งสองระบบรวมกัน จึงต้องเร่งหามาตรการควบคุม แม้ สวรส.จะมีการยืนยันตัวเลขค่าใช้จ่ายแบบชัดเจน แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มุมของนพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นว่า แนวคิดของกรมบัญชีกลางนั้น เป็นหนทางในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จริง แต่ยาบางกลุ่มไม่ควรจะยกเลิก ได้แก่ กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง กลุ่มยาลดความดันโลหิต กลุ่มยารักษามะเร็ง เนื่องจากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่าง รพ.รามาธิบดี มีผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการมาใช้บริการจำนวนมาก และโรคที่มีผู้มาเข้ารับการรักษาเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ มะเร็ง โรคความดัน เบาหวาน และหัวใจ อีกทั้งผู้ป่วยส่วนมากเกษียณอายุราชการแล้วบางรายต้องรักษาตัวนานและต่อเนื่อง ในกระบวนการรักษาบางครั้งแพทย์พยายามจะใช้ยาในบัญชียาหลัก เพราะราคาถูกกว่า แต่พบว่าบางกรณีไม่สามารถทำได้จึงจำเป็นต้องสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแม้ว่าราคาแพงแต่ก็คุ้มค่ากับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

“เชื่อว่า โรงพยาบาลทุกแห่งของรัฐบาลไม่มีแห่งใดต้องการที่จะผลาญงบประมาณด้วยการจ่ายยานอกบัญชีที่มีราคาแพง แต่เพื่อชีวิตของผู้ป่วย แพทย์ย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เสมอ และที่สำคัญโรคมะเร็งยังเป็นโรคอันดับแรกที่คร่าชีวิตคนไทย ดังนั้น อยากให้พิจารณาดีๆ เสียก่อนโดยอาจจะรับฟังเสียงจากข้าราชการก่อนก็ยังดี เพราะอย่างน้อยข้าราชการทุกคนก็ทำหน้าทีรับใช้ประชาชนเสมอมา หากจะเปลี่ยนระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลช่วงนี้ก็ควรฟังมีการประเมินผลกระทบก่อน” ผอ.รพ.รามาธิบดี อธิบาย

ไม่ต่างจาก นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ที่เสนอให้รัฐบาลหาเจ้าภาพในการประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยที่ไม่มุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเรื่องการเบิกจ่ายยาแบบเหมารวมเพียงเพราะต้องการประหยัดเงินที่อาจจะเสียแค่ 5,000-10,000 บาทต่อราย แต่ควรมองผลกระทบระยะยาวว่า บางครั้งกรณีการเบิกจ่ายยาในบัญชียาหลักอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง เป็นต้น และเมื่อประสิทธิภาพไม่ดีก็ส่งผลข้างเคียงทำให้อาการแย่ลง ต้องรักษาตัวในวิธีอื่นที่อาจจ่ายเพิ่มอีกหลายหมื่น หลายแสนต่อราย

“หากยกเลิกยาในกลุ่มที่จำเป็นกับโรคที่กล่าวมา เกรงว่า คุณภาพชีวิตของข้าราชการไทยจะกลับกลายว่าแย่ลงเรื่อยๆ จึงอยากให้ทบทวนให้ดี” นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น