วันนี้ของผู้ป่วย “โรคเรื้อน”
ขออยู่ร่วมอย่างเข้าใจ...
โดย...จารยา บุญมาก
“ถ้าบ่ได้พ่อหลวงทรงเมตตา ก็คิดบ่ออก ว่าตัวเองจะมีชีวิตอย่างไร รู้แต่ว่าตอนนี้ชีวิตก็สุขสบายขึ้น”
ลุงถวิล แสนแก ผู้ป่วยโรคเรื้อน วัย 66 ปี กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าให้จัดตั้งสถาบัน “ราชประชาสมาสัย” ขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนนานกว่า 50 ปี ให้ได้มีชีวิตอยู่อย่างทัดเทียมคนทั่วไปและไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
ลุงถวิล เล่าว่า ตนป่วยโรคเรื้อนมาตั้งแต่วัย 9 ขวบ และรักษาหายในราวอายุ 16 ปี ขณะนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านไตรสภาวะคาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พร้อมๆ กับผู้ป่วยรายอื่นราว 300 คน ทุกคนมีทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม บ้างแกะสลักไม้ สานตะกร้าผัก ทำเกษตร ฯลฯ รายได้แม้ไม่มากนัก แต่พอรวมเข้ากับเงินเบี้ยยังชีพที่มูลนิธิราชประชาสมาสัย มอบให้ นับว่าคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวก็ดีขึ้น
ปัจจุบันนี้ ลุงถวิล ไม่มีเชื้อโรคเรื้อนในตัวแล้ว แต่ความพิการครั้งเมื่อเชื้อลุกลาม ทำให้อวัยวะบางส่วน เช่น นิ้วมือนิ้วเท้า บิดเบี้ยวไปบ้าง ไม่ต่างจากผู้ป่วยรายอื่นๆ อีกนับร้อยในหมู่บ้าน ที่แม้จะพิการก็ยังใช้ชีวิตแบบปกติสุขโดยไม่ต้องรบกวนใคร หากแต่ต้องอาศัยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.เชียงใหม่ มาช่วยบำบัดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งตา ฟัน และฟื้นฟูความพิการปีละ 1-2 ครั้ง เช่น ทำแผลใต้ฝ่าเท้า แผลที่มือ อันเป็นสะเก็ดแข็งๆ อย่างต่อเนื่อง กระนั้นผู้ป่วยก็ยังสามารถขยายครอบครัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และอาศัยอยู่ร่วมกับคนปกติได้ เสมือนหนึ่งว่าโรคเรื้อนอาจกลายเป็นตำนานไปแล้ว
ทว่า สถานการณ์ไม่น่าวางใจนัก เมื่อกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ต้องตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ที่บ้านนอแล ต.ม่อนปิง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย คือ นางนาแย ธำเพิง อายุ 39 ปี มีอาการชาบริเวณข้อมือซ้าย-ขวา เนื่องจากถูกเชื้อโรคทำลายเส้นประสาท มีผื่นเล็กน้อย
นพ.รัชต์ วงศ์ตรังคพันธุ์ ผอ.สถาบันราชประชาสมาชัย กล่าวว่า สำหรับรายนี้พบเชื้อน้อยรักษาหายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยการให้ยา ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ขนาด 600 มก. เดือนละครั้ง และยาแดพโซน( Dapsone ) ขนาด 100 มก.ต่อวัน
“แม้จากรายงานสถานการณ์โรคเรื้อนปี 2553 ระบุว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพียง 398 ราย แต่ ปัญหาบุคคลากรยังน่าห่วง เพราะจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อนที่นับวันจะยิ่งมีน้อยลง ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ทางสถาบันฯจะต้องหาทางรณรงค์เพื่อให้มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ในจำนวนที่เพียงพอกับผู้ป่วย และต้องพยายามลดทัศนคติของคนในสังคมที่ยังมองว่าโรคเรื้อนน่ารังเกียจ เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นที่ยอมรับและสามารถประกอบอาชีพเหมือนคนปกติได้” นพ.รัชต์ กล่าว
นอกจากนี้ สถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ โดยนายสมชาย อบบุญ ผอ.การสถาบันแมกแคนฯ กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันนานกว่า 50 ปี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงให้การสนับสนุนสถาบัน ด้วยทรงห่วงใยประชาชนทุกคน ทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวให้หายจากโรคร้าย และกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมได้ กระทั่งวันนี้เหลือผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในสถาบันอีก 2 ราย และผู้ป่วยไร้ญาติอีก 46 รายอาศัยอยู่ในบ้านพักของสถาบัน โดยดำเนินชีวิตอย่างปกติ ควบคู่กับการทำเกษตรและอาชีพเสริมเช่นเดียวกับชาวบ้านไตรสภาวะคาม