xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เร่ง กนป.เพิ่มทักษะวิทย์-คณิต-ภาษา ดึงหัวกะทิสาขาขาดแคลนมาเป็นครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“มาร์ค” เร่ง กนป.ปรับกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะ วิทย์ คณิต ภาษา แนะ คกก.คุรุศึกษา หาแนวทางดึงคนเก่งจบสาขาที่ขาดแคลนมาเป็นครู สั่งยกระดับ ร.ร.ดีประจำตำบล เห็นผลโดยเร็ว หวังผลยุบรวม ร.ร.เล็กด้อยคุณภาพ ใช้ทรัพยากรร่วม ฝาก สสค.คัดครูสอนดีตำบลละคนขึ้นแท่นครูต้นแบบ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ครั้งที่ 1/2554 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจาณาร่างกรอบนโยบายบายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานประธาน กนป.ได้นำเสนอรายงานของแมคเคนซี่ ซึ่งเป็นรายงานผลการวิจัยการศึกษาในระดับนานาชาติเพื่อมาเทียบเคียงกับการศึกษาของไทย ซึ่งเห็นว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ต้องการเน้นผลผลิตผู้ที่จบออกไปสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับในไทย คือ การให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ นายกฯ ได้เน้นในประเด็นที่มีความสำคัญเช่น เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำอย่างไรในการพัฒนาให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และเพิ่มทักษะทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาต่างประเทศ ได้อย่างไร ที่สำคัญ นายกฯ ได้ย้ำเน้นในเรื่องการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะปรับโครงสร้างเวลา 70 : 30 ซึ่งตนเห็นด้วย และรับที่จะขับเคลื่อนต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องครูยุคใหม่นั้นได้มุ่งเน้นในการผลิต ที่จะต้องชัดเจนในเรื่องการผลิตครูยุคใหม่หลักสูตร 5 ปี เพื่อผลิตครูกลุ่มนี้ไปสู่ครูการศึกษาขันพื้นฐาน ส่วนครูหลักสูตร 6 ปี ควบปริญญาโท ควรจะเป็นครูที่มุ่งสู่การสอนระดับ ม.ปลาย ที่ยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่ในส่วนของวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ นายกฯ ได้ฝากว่า ควรหาแนวทางเพื่อให้ผู้ที่เก่งแต่จบจากสาขาอื่น ที่ไม่ได้เรียนครู ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังขาดแคลนครูว่าทำอย่างไรให้สามารถรับบุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นครูได้ทันที เพื่อจะทำให้ได้ครูที่สนองตอบการขาดแคลนครูได้ จึงมอบให้คณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ไปสรุปแนวทาง หลักสูตรให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งจะต้องทำพร้อมกันทั้งการผลิตครูพันธุ์ใหม่ และการสร้างความเสมอภาคในการจัดสรรอัตราครูด้วย

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องสถานศึกษายุคใหม่นั้น ที่ประชุมเห็นด้วยในการพัฒนาสถานศึกษาทั้งระบบ โดยให้มุ่งเน้นโรงเรียนดีประจำตำบล ว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับมาตรฐานให้ชัดเจน ใช้ระยะเวลาสั้นให้เห็นผลทันที เพื่อดึงการใช้ทรัพยากรจากโรงเรียนขนาดเล็กมาอยู่ที่เดียวกัน จนจะนำไปสู่เป้าหมายในการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งมีตัวเลขชัดว่าหากสามารถยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้ 7,000 แห่ง ก็จะทำให้การใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงเรียนดีประจำตำบลมีมากขึ้น ขณะที่การบริหารจัดการยุคใหม่นั้น นายกฯ ได้เน้นให้ สำนักงานสงเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เร่งคัดเลือกครูสอนดีตำบลละ 1 คน ซึ่งรวมแล้วจะได้ 7,000 คน เพื่อเป็นกลุ่มต้นแบบต่อไป และให้ สสค.จัดกิจกรรมเร่งรัดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมให้เกิดขึ้นแบบองค์รวม

“ในส่วนกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ชาวเขา อยากให้ สสค.เข้าไปขับเคลื่อนภาคเอกชนที่ทำอยู่แล้ว ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้ใช้งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ไปแล้ว 425 ล้านบาท ไปดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ในส่วนของ ศธ ผมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปปรับงบเพื่อขับเคลื่อนส่วนนี้ ซึ่งต่อไปนี้ เมื่อ กศน.ต้องรับผิดชอบหลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กกลุ่มเหล่านี้แล้ว ก็ควรใช้หลักเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น