xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยยศ” เผย 70 มหา’ลัยจ่อพัฒนาสู่ ม.วิจัยฯ ใช้งบ 2 พัน ล.ดันสู่ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศธ.
“ไชยยศ” เผย มหา’ลัย 70 แห่ง จ่อพัฒนาขีดความสามารถร่วม ม.วิจัยแห่งชาติ “สุเมธ” ระบุ ปี 54 ได้งบ 2 พัน ล.ยกระดับศักยภาพงานวิจัยสู่ระดับโลก บรรลุ 7 กลุ่มงาน หวังช่วยไต่อันดับมหา’ลัย โลกสูงขึ้น

วันนี้ (14 ก.พ.) นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่งแรกของประเทศไทย เคยสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในวงการอุดมศึกษาไทย และนานาชาติ ในวันนี้ มหาวิทยาลัยอีก 70 แห่ง มีความตั้งใจที่จะพัฒนาคณาจารย์และร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยของประเทศให้สูงขึ้น เพื่อก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อองค์ความรู้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ เนื่องจากมีส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการวิจัยในระบบอุดมศึกษา และอาจเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณวิจัยของอุดมศึกษาของประเทศที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางในการบริหารโครงการ โดยให้เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณ ควบคู่กับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป และหลังจากที่มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนร้อยละ 60 ของกรอบวงเงินงบประมาณที่แต่ละแห่งได้รับ และอีกร้อยละ 40 จะจัดสรรให้หลังจากที่ได้มีการรายงานความก้าวหน้า และผ่านการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง โดยการติดตามประเมินผลจะมีทั้งในรูปแบบของการแวะเยี่ยมชมโครงการ และการนำเสนอผลงานในที่ประชุม เพื่อให้เห็นผลงานและผลกระทบในเชิงบูรณาการ

ด้าน นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2554 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการจัดสรรงบฯ รวม 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับการจัดสรรต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 ภายใต้ในกรอบวงเงินงบ 5,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยโดยรวมให้มีศักยภาพด้านการวิจัยที่สูงขึ้น และยกระดับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านการวิจัยของประเทศสู่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีขีดความสามารถระดับโลก (World-Class University) และเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงในสาขาวิชาต่างๆ ที่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาทั้งชุมชน อุตสาหกรรม และระบบนวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับนานาชาติ

“ทั้งนี้ คาดหวังว่า มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติทั้ง 9 แห่ง จะมีอันดับในมหาวิทยาลัยโลกสูงขึ้น และมหาวิทยาลัยอีก 70 แห่ง ได้รับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยให้สูงขึ้นเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยทั้ง 79 แห่งได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกับ สกอ.ในการสร้างสรรค์ความสำเร็จในด้านการวิจัยร่วมกัน ดำเนินการให้บรรลุผลตามที่ได้กำหนดไว้ในกลุ่มวิจัยในภาพรวมทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ กลุ่มวิจัยด้านสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร ด้านอุตสาหกรรม ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านอื่นๆ” เลขาธิการ กกอ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น