xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนของหนู...ท่ามกลางไฟสงคราม สมรภูมิรบ “ไทย-เขมร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพความเสียหายของอาคารเรียน ร.ร.ภูมิซรอลฯ จากแรงระเบิด
โดย...พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

ถือเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดอีกครั้งสำหรับคนไทยทั้งประเทศ กับเหตุปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณแนวชายแดน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่ปะทุขึ้นมาครั้งล่าสุด มีผลให้ทหารไทยต้องเสียเลือดเนื้อ กระทั่งชีวิต ประชาชนต่างอลหม่านหนีภัยสงครามกันอย่างไม่คิดชีวิต ที่สำคัญคือแหล่งบ่มเพาะการศึกษาอย่าง “โรงเรียน” ก็ไม่ได้รับการยกเว้น
ห้องเรียนชั้น 3 พังไปทั้งแถบ
“ผมเคยอิจฉาโรงเรียนในเมืองที่ไม่ต้องมีสภาพเหมือนโรงเรียนของผม เพราะโรงเรียนอื่นๆ เดินเข้ามาด้านหน้าโรงเรียนก็มีสวนหย่อม มีสนามเด็กเล่นที่สวยงาม แต่เข้ามาที่นี่ก็เจอหลุมหลบภัย” นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก “เอก” - เอกชัย ไกรงาม ชั้น ม.5 ในฐานะหัวหน้าประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการนักเรียน ร.ร.ภูมิซรอลวิทยา ซึ่งยังงงไม่หายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า เพราะเหตุใดโรงเรียนจึงต้องมาอยู่ในสภาพพังเสียหายจากน้ำมือของสงครามเช่นนี้

เอก เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ ว่า ในวันนั้น (4 ก.พ.) มีการแข่งขันกีฬา อบต.ที่สนามฟุตบอลโรงเรียน และทราบว่า มีการปะทะกันของทหารที่ตรงชายแดนจากเพื่อนที่รู้จักกันในกรุงเทพฯ โทร.มาบอก จากนั้นครูก็มาประกาศอีกครั้งให้ทุกคนเข้าหลุมหลบภัย ตอนนั้นก็ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิดแล้ว เด็กๆ ครู เองก็ต่างวิ่งเอาตัวรอดเข้าหลุมหลบภัยกันชนิดวุ่นวายกันไปหมด บางคนผู้ปกครองก็มารับกลับ ครู่ใหญ่ก็ได้ยินเสียงระเบิดลงมายังอาคารเรียน 2 ลูก
เอกชัย ไกรงาม
“ตั้งแต่อยู่มาก็เพิ่งเคยเจอ รู้สึกว่าตกใจกันมาก ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนทางโรงเรียนก็ให้ซ้อมอพยพกันก็ไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้น จนอาคารเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ พังเสียหายหมด ซึ่งมองดูแล้วเหมือนไม่ใช่โรงเรียน และก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องยิงโรงเรียนด้วย อาคารที่พังถึงจะสร้างใหม่ได้ แต่ขวัญกำลังใจของนักเรียน ครู ชาวบ้าน คงยาก เพราะตอนนี้ก็อยู่กันอย่างหวาดผวา เวลาเรียนก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องหลบกระสุนอีก” เอก บอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
อาคารอเนกประสงค์ได้รับความเสียหายเช่นกัน
ขณะที่ “วิทย์ ภูมาพันธ์” ครู ร.ร.ภูมิซรอลวิทยา ที่พูดพลางยืนมองซากความเสียหายบนอาคารเรียนชั้น 3 อย่างหมดอาลัยตายอยาก ว่า ไม่คิดมาก่อนว่าโรงเรียนที่ซึ่งมีแต่เด็กๆ จะต้องมารับเคราะห์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สภาพในตอนนั้นทุกคนต่างขวัญกระเจิง เด็กบางคนร้องเรียกหาพี่ หาน้อง กันระงมไปหมด ถึงแม้ว่าจะทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการปะทะกัน แต่ก็ไม่คิดว่าจะร้ายแรงขนาดนี้ เพราะตั้งแต่อยู่ที่นี่มาก็มีเสียงปืนจากการปะทะกันบ้างประปรายตามแนวชายแดน แต่ครั้งนี้หนักที่สุดเพราะถึงกับมีการยิงระเบิด ซึ่งที่กัมพูชายิงระเบิดใส่โรงเรียน ก็ทราบมาว่ายิงผิด หากเป็นอย่างนั้น ก็ต้องถามว่าต่อไปจะอยู่ตรงไหนถึงจะปลอดภัย

ครูวิทย์ ยังชี้ให้เห็นว่า ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 แล้วที่โรงเรียนได้จัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาอาเซียน เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการแลกเปลี่ยนกันด้านการศึกษา ทั้งเรื่องภาษาพูด เขียน ซึ่งกันและกัน ซึ่งกำลังเดินหน้าด้านการศึกษาไปด้วยดี หวังว่าอนาคตอาจมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างกัน แต่ตอนนี้คงเสียโอกาสหมดแล้ว
เด็กๆ เข้าร่วมศูนย์จัดการเรียนฯ ภายในศูนย์อพยพ
“ตอนนี้สิ่งที่แย่ที่สุด คือ สภาพจิตใจที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของนักเรียน ที่ต้องกลับมาเรียนโดยที่ไม่รู้ว่าต้องวิ่งหลบระเบิดอีกตอนไหน และที่ถือเป็นความเศร้าใจอีกอย่างคือในขณะที่นักเรียนที่อื่นเน้นวิชาการในการสอน แต่เด็กที่นี่ต้องซ้อมหนีภัยสงคราม ต้องเรียนรู้ว่าระเบิด กระสุนขนาดนี้ มีความรุนแรงแค่ไหน ต้องหลบหลีกอย่างไร ถึงจะปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกไม่ได้” ครูวิทย์ สะท้อนภาพ

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้โรงเรียนกว่า 60 แห่งตามแนวชายแดนต้องปิดตัวเองอย่างไร้กำหนด เพราะยังมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย เด็กจึงต้องติดสอยห้อยตามผู้ปกครองไปยังศูนย์อพยพจำนวนมากกว่า 25,000 คน ภาพของเด็กจำนวนมากภายในศูนย์อพยพ ที่ต้องหยุดเรียนจากปัญหาการสู้รบนั้นทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงจัดตั้งศูนย์จัดการเรียนให้แก่นักเรียนที่ได้รับผลกระทบขึ้น โดยมุ่งเน้นทักษะวิชาการ และทักษะชีวิตเบื้องต้น เพื่อบรรเทาการสูญเสียโอกาสทางการศึกษา

“ป้าชู เชื่อหอม” อายุ 48 ปี ชาวบ้านลุง ต.ลุง อ.กันทรลักษ์ ซึ่งตกอยู่ในสภาพของการหนีภัยสงคราม บอกว่า หลานชายอยากไปโรงเรียน อยากเจอเพื่อนๆ มากแต่ก็ต้องอพยพมาอยู่ที่ศูนย์ฯ เพราะกลัวไม่กล้ากลับบ้าน โดยในวันที่ได้ยินเสียงระเบิดลงก็ต้องทิ้งทุกอย่าง ที่คว้าได้คือหลานชาย เงิน 200 บาท และบัตรประชาชน แล้วหลบมาพักที่ศูนย์อพยพ จึงอยากให้เหตุการณ์กลับมาเป็นเหมือนเดิม จะได้กลับบ้าน เด็กจะได้ไปเรียนเร็วๆ
อาสาสมัครสร้างความบันเทิงให้แก่เด็กภายในศูนย์อพยพ
ถึงแม้วันนี้เหตุการณ์ความไม่สงบจะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง แต่เชื้อของความบาดหมางก็พร้อมที่จะประทุขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งหากภาครัฐของทั้ง 2 ชาติ ยังไม่สามารถเคลียร์กันได้ นอกจากชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแนวชายแดนจะไม่เป็นสุขแล้ว การศึกษา เด็กๆ นักเรียน ก็ยังจะกลายเป็นเหยื่อของสงครามไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น