เรียกว่ามาแรงที่สุดในเทรนด์การออกกำลังกายในขณะนี้ ที่เป็นความนิยมย้อนยุคแต่อยู่ในกระแสชนิดข้ามปี กับเจ้าห่วงที่ถูกเรียกว่า “ฮูลาฮูป” ที่ขณะนี้หากหันซ้ายหันขวา เป็นอันต้องเจอลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงผู้ใหญ่ ใช้เจ้าห่วงนี้ออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มันเคยเป็นของตกกระแส ฮิตกันอยู่ในอดีตก่อนหน้านี้ แล้วก็หายไป จนเมื่อราวกลางปีที่แล้ว กลับมานิยมใหม่ แล้วความนิยมนั้นก็ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แถมทำท่าจะอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่องไม่มีตกอีกด้วย สังเกตจากในชุมชนต่างๆ ก็มีการสนับสนุนให้การเล่นฮูลาฮูปกลายเป็นการออกกำลังกายประจำในหลายๆ ชุมชนด้วย
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเล่นฮูลาฮูปสามารถเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มได้ ใช้พื้นที่เล่นน้อย อุปกรณ์มีราคาถูก ยิ่งฮิตมากในขณะนี้ยิ่งหาซื้อง่าย มีสำหรับผู้เล่นทุกรูปร่าง มีวิธีการเล่นพลิกแพลงหลายแบบหลากสไตล์ แถมอุปกรณ์ก็มีการผลิตออกมาให้สุดแฟนซีสวยงามมากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด นอกจากความสนุกแล้ว การเล่นฮูลาฮูป ยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แถมกระชับสัดส่วน ช่วยลดความอ้วนเฉพาะจุดได้ดีอีกด้วย
...แต่แม้ดีไปเกือบจะทุกอย่างแบบนี้ ก็มีข้อควรระวังในการใช้เช่นกัน...
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์การกีฬา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากเตือนบรรดา “ฮูปเลิฟเวอร์” ทั้งหลายว่า การเล่นฮูล่าฮูปเป็นตัวเลือกที่ดีในการออกกำลังกายตัวเลือกหนึ่ง แต่ก็มีข้อพึงระวังด้วยเช่นกัน
“ลักษณะการเล่นฮูลาฮูป คือ การเอาห่วงไปวางตามจุดต่างๆ เช่น เอว แขน คอ หรือขา แล้วออกแรงเหวี่ยง ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นต้องเสียดสีกับห่วง หากเล่นนานๆ หรือเหวี่ยงแรงๆ อาจจะทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแพ้ อักเสบ หรือถึงขั้นไหม้ได้ ทางแก้ไขง่ายๆ ก็คือ อย่าเล่นกับเนื้อเปล่าๆ อย่าถอดเสื้อเล่น ให้มีเสื้อผ้าปกปิดผิวหนังส่วนที่จะต้องเสียดสีกับห่วงเสียชั้นหนึ่งก่อน”
อีกประการหนึ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เป็นห่วง คือ ผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพและพยาธิสภาพในการเล่นฮูลาฮูป นั่นก็คือ ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ส่วนหลังและผู้ที่เคยบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง
“ฮูลาฮูปต้องอาศัยแรงเหวี่ยงจากเอว ดังนั้น ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ หรือปวดเรื้อรังที่หลังไม่ควรเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ แล้วก็ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ควรเลี่ยงไปเล่นกีฬาประเภทอื่นที่กระทบกระแทกน้อย” รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ทิ้งท้าย