สธ.ส่งทีมแพทย์จากโรงพยาบาลจะนะ ตรวจสุขภาพน้องบินลาเดน วัย 9 ปี ที่กินบะหมี่ ผลไม่ขาดสารอาหาร เตรียมประเมินไอคิว เบื้องต้นสันนิษฐานเหตุติดบะหมี่น่าจะเกิดจากความเคยชิน แนะไม่ควรให้เด็กกินบะหมี่อย่างเดียวทุกวัน ควรเสริมเนื้อสัตว์ ไข่ ผักใบเขียว เพิ่มคุณค่าอาหาร
จากกรณี ด.ช.ธนพล หลีคง หรือ น้องบินลาเดน อายุ 9 ขวบ อาศัยอยู่กับยาย ที่บ้านเลขที่ 245/2 ม.4 ตำบลสะกอมอ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลักแทนข้าว ปัจจุบันน้ำหนักตัว และส่วนสูงต่ำกว่าปกติมาก มีอาการคล้ายสมองช้า เรียนไม่ทันเพื่อน ยังเขียนหนังสือไม่ได้ ผู้ปกครองให้ประวัติ ว่า เด็กชายบินลาเดนเป็นบุตรคนเดียวของลูกสาวกับลูกเขย ซึ่งทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้ว แรกเกิดกินนมตามปกติ เปลี่ยนจากนมเป็นข้าวต้มก็ยังกินได้ จนกระทั่งเริ่มคลานจึงเริ่มป้อนข้าวสวย แต่เด็กชายบินลาเดน จะคายออก จึงให้กินข้าวต้มมาตลอดจนโต เมื่อได้กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ชอบและไปซื้อมากินเป็นประจำ ซึ่งยายต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือหลายชายรายนี้
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (25 ม.ค.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือเด็กชายบินลาเดน เป็นการด่วน โดยในวันนี้ได้ส่งทีมแพทย์จากโรงพยาบาลจะนะ ไปตรวจสุขภาพ เด็กชายบินลาเดนที่โรงเรียนปากบาง ผลปรากฏว่า เด็กน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีปัญหาขาดสารอาหาร เด็กร่าเริงดี อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จะประเมินระดับเชาวน์ปัญญา หรือไอคิวในภายหลัง รวมทั้งค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมติดบะหมี่สำเร็จรูป เพื่อวางแผนให้การรักษาต่อไป สำหรับสาเหตุการติดบะหมี่ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความเคยชิน แนะนำผู้ปกครองให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ต้องค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาเด็กปรับตัว โดยพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งเพื่อนๆ ต้องเป็นแรงหนุนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาหารใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการบังคับ หรือดุว่า ควรเริ่มให้เด็กลองกินอาหารเมนูใหม่ๆ ทีละน้อย และให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกเมนูอาหารที่อยากกินด้วยตัวเอง โดยผู้ปกครองเป็นผู้ชี้แนะอย่างใกล้ชิด และควรช่วยจัดสิ่งแวดล้อม บรรยากาศให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเด็กด้วย
ด้าน พญ.แสงโสม ลีนะวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ตามข้อมูลโภชนาการ บะหมี่จัดเป็นอาหารกลุ่มเดียวกับข้าว แป้ง ส่วนประกอบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70 เป็นแป้งสาลี รองลงมาคือ ไขมันที่อยู่ในซองเครื่องปรุงรสร้อยละ 15-20 ซึ่งให้พลังงานแก่ร่างกายเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญ คือ ผงปรุงรสในบะหมี่ จะมีส่วนประกอบของเกลือ ผงชูรส และพริก อยู่ร้อยละ 5-6 จะทำให้เด็กติดในรสชาติอาหาร อยากกินอยู่เรื่อยๆ การกินบะหมี่อย่างเดียวเป็นประจำทุกวัน โดยไม่กินอาหารอื่นด้วย จะส่งผลกระทบต่อร่างกายเด็ก ประการแรก คือ การขาดสารอาหาร เป็นหวัดง่าย ป่วยง่าย และในระยะยาว จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย เติบโตไม่เต็มศักยภาพ ที่สำคัญคือ ส่งผลต่อการพัฒนาสมองและความฉลาดทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม การกินบะหมี่ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่ควรกินเป็นประจำทุกวัน ควรจะกินอาหารอื่นสลับด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ ถ้าจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายด้วย เช่น เติมไข่ 1 ฟองหรือเนื้อสัตว์ 1-2 ช้อนกินข้าว ลูกชิ้น เติมผัก เช่น ตำลึง ผักหวาน ผักบุ้ง แครอท หรือผักพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่น เติมน้ำเพียงครึ่งถ้วย และเติมเครื่องปรุงรสเพียงครึ่งซอง หรือน้อยที่สุด เนื่องจากมีรสเค็มมาก หากกินประจำจะเกินความต้องการของร่างกาย ในอนาคตอาจจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย ควรกินผลไม้หลังมื้ออาหาร และเป็นอาหารระหว่างมื้อเพิ่มเติมด้วย แพทย์หญิง แสงโสม กล่าว