xs
xsm
sm
md
lg

“ปลัดแรงงาน” เร่งคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ปลัดแรงงาน ส่ง จนท.ดูแล เตรียมพร้อมสู่การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เร่งแก้ปัญหาการรักษาพยาบาล เน้นศึกษาประกันสังคมจากต่างประเทศ โดยเรื่องรักษาโรคร้ายแรงได้รับร้องเรียนบ่อยครั้ง ส่วนเรื่องเก็บเงินสมทบของแรงงานนอกระบบ ต้องรอแก้ กม.ต่อไป

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยถึงกรณีที่จะมีการขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบในกลางปี 2554 นี้ รวมถึงสภาพปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในเรื่องปัญหาการบริการด้านการรักษาพยาบาล ว่า ทางกระทรวงแรงงานได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ และวางมาตรการในการดูแล โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบถึงสาเหตุของปัญหา หากสถานพยาบาลใดดำเนินการไม่ถูกต้องหรือทำผิดสัญญา ก็ต้องมีการลงโทษ และเน้นให้เข้มงวดในทางปฏิบัติมากขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนบ่อยๆ เช่น เรื่องการรักษาพยาบาลในโรคที่รุนแรงที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการส่งต่อผู้ป่วยด้วย และพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกับการประกันสังคมของประเทศอื่นๆ

“ปัจจุบันมีการกล่าวถึงแนวคิดเรื่องมาตรฐานค่าใช้จ่ายแบบ DRG (Diagnosis Related Groups) หรือ กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หมายถึงการจัดกลุ่มโรคของผู้ป่วย ที่ใช้ทรัพยากรในการรักษาใกล้เคียงกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน โดยนำมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการจัดบริการให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดแต่มีคุณภาพมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพื่อการกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยซึ่งเกี่ยวโยงถึงระบบการเหมาจ่ายกรณีผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก เป็นต้น แต่ต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ ความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับการบริหารจัดการในเรื่องของเงินสมทบและสิทธิประโยชน์นั้น ในส่วนมาตรา 40 ที่ขยายความครอบคลุมแรงงานนอกระบบ จะแยกส่วนจากมาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคม การบริหารจัดการได้มีการศึกษาและคำนวณผลทั้งเรื่องเงินสมทบ สิทธิประโยชน์จากการจัดเก็บของมาตรา 40 ต้องมีการแก้ไขกฎหมายส่วนของมาตรา 40 เดิมที่เคยเก็บ 3,800 บาทต่อปี ต้องนำตัวเลขที่มีการนำเสนอช่วงก่อนหน้านี้ คือ ให้เลือกจ่ายเงินสมทบ 2 อัตรา คือ 100 บาทต่อเดือน และ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องรอการแก้ไขกฎหมายและออกเป็นพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น