“จุรินทร์” จับมือ 5 กระทรวง พัฒนามาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ผ่านออนไลน์ เอื้อประโยชน์แพทย์มีประวัติผู้ป่วยสามารถรักษาผู้เจ็บป่วยรวดเร็วขึ้น
วันนี้ (18 ม.ค.) ห้องประชุมสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและผลักดันมาตรฐานการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ”โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า เป็นความร่วมมือ 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพให้เป็นในทิศทางเดียวกันและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งกำหนดมาตรฐาน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากจัดทำฐานข้อมูลเสร็จแล้ว จะเป็นประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้ 1.ช่วยเชื่อมโยงระบบการส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เช่น เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ จะสามารถออนไลน์ข้อมูลเชื่อมโยงกันได้ทั่วประเทศ แพทย์สามารถใช้ข้อมูลในการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปเอาแฟ้มประจำตัวกลับมาจากหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้อีก
2.ช่วยเชื่อมโยงระบบข้อมูลการแพทย์ทางไกล ซึ่งแพทย์อาจจะอยู่ในจุดหนึ่ง ผู้ป่วยอยู่ในจุดหนึ่ง แต่สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลประจำตัวของผู้ป่วยได้ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยสั่งการหรือวินิจฉัยในการรักษาได้ รวมทั้งใช้ในการแนะนำการรักษาระหว่างแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล ในการที่จะเข้าไปดูแลผู้ป่วยในระบบทางไกล 3.ช่วยเชื่อมโยงระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบรักษาฟรี 48 ล้านคนด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบ กำหนดมาตรฐาน และกำหนดแนวปฏิบัติกันอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะทำงานที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป และประกาศให้ทราบว่าจะใช้ระยะเวลาการจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมดภายในกี่ปี จะใช้ประโยชน์ได้เมื่อใด
ทั้งนี้ เรื่องการจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพเคยเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ เพราะฉะนั้นข้อมูลจึงเชื่อมโยงกันไม่ได้ ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ข้อมูลมีการเชื่อมโยงกันได้ครบถ้วนทั้งหมด เนื่องจากเรามีอี-กอปเวินเมน (e-Government) หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็จะมีอี-เฮลท์ (e-health)หรือข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นด้วย โดยส่วนหนึ่งเป็นความเห็นขององค์การอนามัยโลก ที่เข้ามาศึกษาประเทศไทยและเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้