สสส.เตือนบริโภคน้ำมันหมูแทนน้ำมันปาล์ม เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ ชี้คนกรุงกว่า 50% คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่ามาตรฐาน แนะใช้น้ำมันทางเลือกที่ไม่เพิ่มคอเลสเตอรอล
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคหลังจากการประกาศขึ้นราคาน้ำมันพืช พบว่า มีผู้บริโภคบางส่วนหันไปใช้การเจียวน้ำมันจากมันหมูแทน ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำมันหมูประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว ที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และเป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนในกรุงเทพฯ กว่า 50% มีคอเลสเตอรอลสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วก็ไม่หายขาด ดังนั้น การป้องกันโรคจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด นั่นคือการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ลง การรับประทานอาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลต่ำก็เป็นหนทางหนึ่ง ดังนั้นในการเลือกใช้น้ำมันในการปรุงอาหารจึงเป็นสิ่งที่ควรทราบ
“นอกจากน้ำมันหมูซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังมีน้ำมันทางเลือกอื่นอีกจำนวนมากซึ่งดีต่อสุขภาพ ให้ใช้บริโภคแทนน้ำมันปาล์มที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโมโน เป็นกรดไขมันชนิดดี ไม่เพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด พบมากในน้ำมันมะกอก พบปานกลางในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโพลี เป็นกรดไขมันชนิดดีปานกลาง เช่น กรดไลโนเลอิก ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้บ้าง มีในน้ำมันรำข้าวพอสมควร อย่างไรก็ตาม น้ำมันปรุงอาหารหลายยี่ห้อที่ขายในประเทศไทยเป็นน้ำมันผสม ดังนั้น ก่อนซื้อผู้บริโภคควรพิจารณาดูส่วนผสมที่ฉลากด้วย” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาโภชนาการสมวัย สสส. และกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคน้ำมันของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากคนไทยกินของผัดและของทอดสูงขึ้น จากปกติควรจะได้รับน้ำมันจากการกินไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งหากบริโภคเกินขนาดก็นำไปใช้ไม่หมด จนเกิดปัญหาอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหอบ ดังนั้น ในระหว่างที่น้ำมันปาล์มแพงขึ้น เราควรฉวยโอกาสนี้ในการลดกินของผัดและทอด หันมากินของต้ม ย่าง ยำ อบ และนึ่งแทน เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันในการทำอาหารให้น้อยลง เพื่อเป็นการประหยัดน้ำมันและลดปัญหาอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหอบ ได้ด้วย และไม่ต้องห่วงว่าร่างกายจะขาดน้ำมัน เพราะคนไทยหาน้ำมันอย่างอื่นมาทดแทนให้แก่ร่างกายได้หลายทาง เช่น กะทิ และเนื้อสัตว์ นอกจากนี้การปรุงอาหารควรลดปริมาณการใช้น้ำมันให้น้อยลง โดยเฉพาะการผัดหรือการทอด ซึ่งยังคงรสชาติของอาหารและยังได้สุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย