อย.เข้ม! เพิ่มมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค ยกระดับให้อาหารอีก 4 ประเภท ได้แก่ อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และก๋วยเตี๋ยว ต้องมีการผลิตให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร (GMP) เนื่องจากสำรวจแล้วมีความพร้อมและเป็นอาหารที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลาย และบางกลุ่มยังพบปัญหาการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเริ่มบังคับใช้ 16 มีนาคม พ.ศ.2554
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สำรวจพบว่าสถานที่ผลิตอาหารบางประเภท ควรมีการยกระดับการผลิต จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193 ) พ.ศ 2543 (ฉบับที่ 2) เพื่อกำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร (GMP) เพิ่มเติมอีก 4 ประเภท ได้แก่ อาหารพร้อมปรุงที่ได้จัดเตรียมส่วนประกอบต่างๆ แยกจากกันเป็นส่วนๆ และจัดรวมเป็นชุดไว้ในหน่วยภาชนะเดียวกัน เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ชุดแกงส้ม ผลิตภัณฑ์ขนมอบที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีที่ทำจากแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก และทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น โดนัท เค้ก แครกเกอร์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เช่น หมูทุบ หมูหยอง ปลากรอบปรุงรส
ก๋วยเตี๋ยว และเส้นหมี่ที่มีลักษณะเป็นเส้น หรือแผ่น ทำจากแป้งข้าวเจ้าเป็นองค์ประกอบหลัก และใช้ลวกในน้ำเดือดก่อนบริโภค โดยอาจเป็นเส้นสด เส้นกึ่งแห้ง และเส้นแห้งก็ได้ ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นไป ส่วนผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารอยู่ก่อนประกาศฯ ฉบับนี้ใช้บังคับ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ ภายใน 2 ปี นับจากประกาศฯ ฉบับนี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2556
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อสอบถามได้ที่กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2590-7214, 0-2590-7173 ในวันและเวลาราชการ