xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ห่วงนักบิดวัยโจ๋อายุสั้น-พิการ เหตุดื่มสุรา ไม่สวมหมวกันน็อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ปลัด สธ.เผยวัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงพิการ บาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร พบสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกครั้งน้อยมาก รวมทั้งยังดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถด้วย

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสุขภาพกลุ่มวัยรุ่นไทย เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควรจากอุบัติเหตุจราจร โดยผลการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคในปี 2548-2552 ในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 และกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 5ใน 24 จังหวัด รวม 234 ,483 คน อายุเฉลี่ย 16-17 ปี

นายแพทย์ไพจิตรกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พฤติกรรมเสี่ยงที่พบสูงอันดับ 1 ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบร้อยละ 50 อันดับ 2 คือการทะเลาะวิวาทพบร้อยละ 23 อันดับ 3 คือ การใช้สารเสพติด เช่น กัญชา กระท่อม ยาบ้า พบร้อยละ 19 อันดับ 4 คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถจักรยานยนต์มีร้อยละ 14 ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนี้มีแนวโน้มสูงกว่าปี 2548 โดยเฉพาะพฤติกรรมการขับขี่นับว่าน่าเป็นห่วงมาก ผลการศึกษาพบว่านักเรียนส่วนใหญ่เคยขับขี่รถจักรยานยนต์ และสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งน้อยมากเพียงร้อยละ 14 และมีนักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถจักรยานยนต์ร้อยละ 14 ส่วนนักเรียนที่เคยขับรถยนต์หรือนั่งข้างคนขับซึ่งมีร้อยละ 85 แต่คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของศูนย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในปี 2552 พบว่าอายุยิ่งน้อย ยิ่งไม่สวมหมวกกันน็อก และยิ่งดึกก็ยิ่งไม่สวมเช่นกัน โดยจะสวมหมวกกันน็อกในช่วงเดินทางไปทำงาน หากเดินทางในระยะใกล้ๆ จะไม่สวม จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงอายุ 15 ปีขึ้นไปที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 30 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก จะเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 93 คนซ้อนท้ายเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 97 โดยในกลุ่มที่บาดเจ็บดังกล่าว บาดเจ็บที่ศีรษะมากถึงร้อยละ 81 ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บาดเจ็บที่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อก รายละ 15,992 บาท ซึ่งสูงเป็น 3 เท่าของผู้บาดเจ็บที่สวมหมวกกันน็อค

“ในการลดการบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับ และคนซ้อนท้าย ต้องสวมหมวกกันน็อกและคาดสายรัดคางทุกครั้ง ไม่ว่าจะขับรถทางไกลหรือใกล้ก็ตาม เพราะจะช่วยปกป้องอันตรายที่ศีรษะและลดการบาดเจ็บรุนแรงที่สมองได้ และในปี 2554 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% ดังนั้นผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ทุกคนควรสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิด ควรดูแลในเรื่องการใช้รถจักรยานยนต์ของบุตรหลานให้มากขึ้น” ปลัด สธ.กล่าว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น