xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ SP2 สธ.อืด รอสำนักงบฯ เคาะราคากลาง คาด 2 สัปดาห์เสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข
ครม.ไฟเขียวขยายเวลาจัดสรรงบไทยเข้มแข็งเพิ่มอีก 60 วัน เบิกจ่ายงบภายใน 31 พ.ค.53 ชี้ ทบทวนรายการครุภัณฑ์ช้าเหตุรอสำนักงบฯ เคาะราคากลาง หาข้อยุติตั้งราคากางสูงเกินจริง คาดเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมยุบการจัดสรรงบไทยเข้มแข็ง สธ.ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ปรับเสนอรายการครุภัณฑ์ที่มีความจำเป็นรวมในงบประมาณปกติปี 2554 แทน ขีดเส้นไข้อสรุปภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ ขณะที่รถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยยังไม่ได้ข้อสรุปพับโครงการหรือไม่ ขณะที่สมาคมวิชาชีพฯ ค้านยกเลิกจัดซื้อรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย เสนอทบทวนให้ซื้อเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ย้ำรถพยาบาลจำเป็นในการช่วยเหลือชีวิตคน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มติที่ประชุมครม.เห็นชอบขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นเวลา 60 วัน จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม เป็นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ดังนั้นคณะกรรมการทบทวนพิจารณาความเหมาะสมและแก้ไข้ปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เป็นประธาน ยังมีเวลาในพิจารณาแต่ละโครงการให้มีความเหมาะสมกับนโยบาย

“ส่วนการที่การพิจารณาทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งที่ล่าช้านั้น เนื่องจากรอให้สำนักงบประมาณแห่งชาติ ส่งหนังสือตอบกลับการกำหนดราคากลางครุภัณฑ์และสิงก่อสร้างต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสวบสวนข้อเท็จจริง ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หากผลการพิจารณาของสำนักงบประมาณฯ ได้ข้อสรุปก็จะทำให้ได้ข้อยุติของทุกฝ่ายไม่มีข้อสงสัยในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นับจากนี้ไป”นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการยกเลิกโครงการจัดซื้อรถพยาบาลสำหรับส่งต่อผู้ป่วยจำนวน 829 คัน คันละ 1.8 ล้านบาท รวมงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ให้กับโรงยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทบทวนของคณะกรรมการทบทวนฯ ว่าจะมีการจัดซื้อหรือไม่ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อรถพยาบาลเป็นการจัดซื้อมาใช้สำหรับ รพ.สต.แต่นำไปจอดไว้ที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จะเป็นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับ รพ.สต.ได้อย่างไร ซึ่งจะต้องทบทวนว่าจะนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในลักษณะใด และหากมีการยกเลิกรายการจัดซื้อรถพยาบาลจะนำมาจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นให้กับ รพ.สต.แทน ซึ่งขณะนี้การพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ พ.ศ. ... ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติให้แต่ละกระทรวงรวมถึง สธ.จัดสรรงบประมาณคัดเลือกโครงการที่มีความจำเป็นจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ โครงการไทยเข้มแข็งจากเดิมที่จัดสรรงบประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท มาจัดตั้งงบประมาณปกติประจำปี 2554 แทน โดยไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยให้พิจาณาแล้วเสร็จภายใน วันที่ 27 เมษายน 2553 โดยคณะกรรมการทบทวนฯ จะเป็นผู้พิจารณาทบทวนทั้งในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ฯ พ.รบ.เงินกู้ฯ และงบประมาณในปี 2554

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สธ.มีนโยบายยกระดับสถานีอนามัย ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยในปี 2553 นี้ มีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อย 5,000 แห่ง ส่วนอีก 5,000 แห่ง จะยกระดับครบในปี 2554 เท่ากับใช้เวลาในการดำเนินงาน 2 ปีเท่านั้น

นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า หากจะมีการยกเลิกรถพยาบาลสำหรับส่งต่อผู้ป่วยจริง ถือว่าไม่สมควร เพราะประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง ยิ่งในพื้นที่ห่างไกล การส่งต่อเพื่อไปรักษาจากที่ลำบากอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น และหากจะให้ รพ.สต.หางบประมาณมาจัดซื้อรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยเอง คงทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทบทวนในแง่ของรถพยาบาลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพราะโรงพยาบาลตำบลบางแห่ง อยู่ในถิ่นทุรกันดารมากๆ รถยนต์เข้าไม่ถึง ต้องใช้เรืออย่างเดียว ซึ่งควรจะมีการพิจารณาให้รอบด้าน

ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จริงๆ ได้มีการทบทวนรายการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างโครงการไทยเข้มแข็ง ในส่วนของ พ.ร.ก.เสร็จแล้ว แต่เมื่อต้องการให้สำนักงบประมาณทำราคากลางอีก เพื่อความสบายใจก็ไม่เป็นไร แต่ที่ไม่เข้าใจ คือ คณะกรรมการทบทวนที่มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เป็นประธานกำลังดำเนินการอะไรอยู่ เพราะจากการที่มีการสั่งทบทวนการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ดูจะไม่สมควร

“อย่าลืมว่า รพ.ชุมชนกับ รพ.ตำบลนั้น เชื่อมโยงกัน เพราะโดยหลักการหากผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาที่ รพ.ตำบล แต่ รพ.ไม่มีอุปกรณ์ หรือเครื่องไม้เครื่องมือช่วยชีวิตที่ครบถ้วนก็จำเป็นต้องส่งไปรักษาที่ รพ.ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาการเดินทางค่อนข้างลำบาก ขาดรถพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วย การจัดซื้อรถพยาบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็น และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้” นพ.วชิระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น