กทม.เดินหน้าคัดกรองเด็กแรกเกิด - 5 ปี ที่เสี่ยงต่อความบกพร่องทางพัฒนาการ มุ่งลดความพิการ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เด็กได้รับพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พร้อม ขยายหน่วยบริการเพิ่ม 4 แห่ง พร้อมยกระดับ 6 หน่วยบริการปฐมภูมิสู่ระดับทุติยภูมิ
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานแถลงข่าวโครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด - 5 ปี ใน กทม.ปี 2553 “เร่งคัดกรอง รีบส่งเสริม เพิ่มพัฒนาการเด็กไทย” โดยมี นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า สำนักอนามัย กทม.ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ กทม.จัดทำโครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด - 5 ปี เพื่อค้นหา คัดกรองเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความบกพร่องทางพัฒนาการ และช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกอย่างมีระบบ พร้อมทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรองพัฒนาการของเด็ก และได้รับการส่งเสริมความรู้เพื่อพัฒนาเด็กให้เป็นไปตามขั้นของพัฒนาการอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการจัดบริการแก่เด็กบกพร่องทางพัฒนาการวัยแรกเกิด - 5 ปี ในกรุงเทพมหานคร เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 30 แห่ง โดยนักจิตวิทยาจากสถาบันราชานุกูล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 30 แห่ง และอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ช่วยกันคัดกรอง ประเมิน และส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัยตั้งแต่แรกเกิดทำให้เด็กสามารถพัฒนาสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติเป็นการลดปมด้อย ลดความพิการ และส่งเสริมให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนครอบคลุมทั่วถึงและมีความต่อเนื่อง กทม.จึงได้ขยายการให้บริการในปี 2553 เพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 แห่ง และศูนย์รักษ์สุขภาพกรุงเทพมหานคร (เซ็นทรัลพระราม 3) รวมมีหน่วยบริการระดับปฐมภูมิทั้งหมด 34 แห่ง นอกจากนี้ได้พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคลินิกสุขภาพจิต 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ฯ 3 บางซื่อ ศูนย์ฯ 4 ดินแดง ศูนย์ฯ 21 วัดธาตุทอง ศูนย์ฯ 23 สี่พระยา ศูนย์ฯ 24 บางเขน และศูนย์ฯ 33 วัดหงส์รัตนาราม ให้มีความเข้มแข็งยกระดับเป็นหน่วยบริการส่งต่อระดับทุติยภูมิด้วยการจัดนักจิตวิทยาเพิ่มให้แก่คลินิกสุขภาพจิตในศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 6 แห่งๆ ละ 2 คน เพื่อวางระบบการรองรับการส่งต่อระดับทุติยภูมิ และพัฒนาเพิ่มพูนความรู้แก่ครูพี่เลี้ยงของสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวันในศูนย์บริการสาธารณสุขให้สามารถประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพในการให้บริการทั้งระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ ก่อนส่งต่อรับบริการระดับตติยภูมิในสถาบันราชานุกูล และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป
นพ.ชาตรี กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยพบเด็กบกพร่องทางพัฒนาการเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกทม.อาจมีเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการประมาณ 57,000-113,000 คน สำหรับผลการดำเนินโครงการ ปี 2552 มีเด็กที่ได้รับการคัดกรองพัฒนาการในพื้นที่เป้าหมายถึง 52,778 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรเด็กใน กทม.ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีความบกพร่องทางพัฒนาการถึง 5,658 คน ได้รับการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการจากโครงการจำนวน 671 คน นอกจากนี้ ยังมีการส่งต่อเพื่อรับบริการทั้งในและนอกระบบเพื่อให้เด็กได้รับบริการอย่างต่อเนื่องมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสม