กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดทดสอบสำหรับแยกกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติด และกัญชงซึ่งเป็นพืชเส้นใยที่มีคุณภาพสูง โดยมีวิธีการใช้งานที่ง่ายให้ผลรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง เตรียมความพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนรัฐอนุญาตให้ปลูกกัญชงในประเทศได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงซึ่งเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งน้ำมันจากเมล็ดกัญชงเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในตลาดโลก แต่เนื่องจากกัญชงมีลักษณะคล้ายกับกัญชา จึงยากต่อการจำแนก ในหลายประเทศสามารถปลูกกัญชงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยต้องควบคุมให้มีสารเสพติด คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ในปริมาณที่กำหนด เช่น ในประเทศแคนาดากำหนดให้มีสารเสพติด THC ในกัญชงไม่เกิน 0.3% ส่วนประเทศทางยุโรปกำหนดให้มีไม่เกิน 0.2% ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกิน 0.5-1% สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์หรือมาตรการควบคุม หากในอนาคตมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชงได้ถูกต้องตามกฎหมาย การจำแนกกัญชาออกจากกัญชงจึงมีความสำคัญมาก
ทั้งนี้ จากการศึกษาปริมาณสารสำคัญในกัญชงที่ปลูกในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง 4 พื้นที่ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและองค์การสวนพฤกษศาสตร์ 3 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์รวมพรรณไม้ที่สูงเขตร้อน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โรงเรือนเพาะชำพรรณไม้ (ห้วยตาด) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และศูนย์รวมพรรณไม้บ้านร่มเกล้าในพระราชดำริ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก พบว่า กัญชงมีอัตราส่วนสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลซึ่งเป็นสารเสพติด ต่อสารแคนนาบิไดออลซึ่งไม่มีฤทธิ์เสพติด ประมาณ 1.2 ซึ่งน้อยกว่ากัญชา 10-25 เท่า การใช้อัตราส่วนของปริมาณสารสำคัญไฮโดรแคนนาบินอล และแคนนาบิไดออล ก็จะสามารถจำแนกกัญชงออกจากกัญชาได้เพื่อเตรียมความพร้อมในการควบคุมการปลูกกัญชงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 เชียงใหม่ ได้พัฒนาชุดทดสอบกัญชา-กัญชง (Cannabis test kit) ขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกกัญชาที่ใช้เป็นยาเสพติดออกจากกัญชงที่ใช้เป็นพืชเส้นใยได้ มีวิธีตรวจที่ง่ายให้ผลรวดเร็ว และยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีการตรวจพิสูจน์โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ
นายบำรุง คงดี ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า กัญชง เป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชาแตกต่างกัน คือ ต่อมน้ำมันของกัญชงมีน้อยกว่าจัดอยู่ในพืชซึ่งให้ประโยชน์หลักทางด้านสิ่งทอเป็นสำคัญโดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L var. sativa สำหรับชุดทดสอบกัญชากัญชงที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 พัฒนาขึ้นมานี้ ใช้หลักการตรวจแบบโครมาโตกราฟีผิวบาง (Thin Layer Chromatography, TLC)
ในการแยกสารสำคัญในพืชกัญชา และหาปริมาณแต่ละสารโดยเทียบขนาดและความเข้มสีบนแผ่นทดสอบกับแผ่นเทียบสารมาตรฐาน หากค่าที่ได้น้อยกว่า 10 จัดเป็นกัญชง แต่ถ้าค่าที่ได้เท่ากับหรือมากกว่า 10 จัดเป็นกัญชา โดยปริมาณต่ำสุดของสารสำคัญในกัญชาที่อ่านผลได้ชัดเจนคือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล และแคนนาบิไดออล เท่ากับ 0.1 ไมโครกรัม และจากการประเมินประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ ระหว่างวิธีแก๊สโครมาโตกราฟีกับชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จำนวน 15 คน
พบว่า มีค่าความน่าเชื่อถือดีเลิศ และมีความถูกต้อง ความไว และความจำเพาะของวิธี 100% ชุดทดสอบนี้นับเป็นชุดทดสอบที่ใช้จำแนกกัญชากัญชงรายแรกของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม โดยสามารถนำชุดทดสอบดังกล่าวมาใช้จำแนกกัญชา-กัญชง รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกัญชงสามารถใช้ชุดทดสอบดังกล่าวในการควบคุมคุณภาพในเบื้องต้น