xs
xsm
sm
md
lg

Stroke Fast Track ช่องทางหลีกหนี “อัมพาต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้หรือไม่ว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือที่รู้จักกันในนามของ “อัมพฤกษ์-อัมพาต” เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 30,000 คน และจากสถิติล่าสุด พบว่า ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทย ทำให้อุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง พุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่หากผู้ป่วยถูกนำส่งโรงพยาบาลทันภายใน 180 นาที หรือ 3 ชั่วโมง และได้รับการรักษาทัน โอกาสรอดชีวิตโดยไม่เป็นอัมพฤกษ์หรือัมพาตก็มีอยู่เช่นกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิตของคนไทย โดยตัวเลขสถิติที่เก็บได้ คือ ประมาณ 30,000 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดยุทธศาสตร์สุขภาพด้านโรคหลอดเลือดสมอง ในทิศทางของการพัฒนาการบริการการรักษาและเพิ่มมาตรการการนำส่งผู้ป่วยให้รวดเร็วขึ้นเป็นระดับมาตรฐานสากล

“เส้นทางการนำส่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนี้เรียกว่า Stroke Fast Track คือ การนำส่งผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองนับตั้งแต่เกิดอาการให้ทันภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งหากทันก็จะลดอัตราการเป็นอัมพาต-อัมพฤกษ์ และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วย โดยศูนย์ Stroke Fast Track เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนี้ มีต้นแบบอยู่ที่สถาบันประสาทวิทยา และได้ขยายเครือข่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการอีก 14 แห่ง รวมเป็น 15 แห่ง ซึ่งเมื่อโรงพยาบาลเหล่านี้รับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ก็จะให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยไม่ให้เสียชีวิต และลดอัตราเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาต โดยกระทรวงได้สนับสนุนงบประมาณการรักษาแก่โรงพยาบาลเครือข่ายเหล่านี้ในงบราวๆ 70,000-200,000 บาทต่อคนไข้ 1 ราย”

รัฐมนตรีคนเก่งขยายความถึงอีก 14 โรงพยาบาลเครือข่าย Stroke Fast Track ว่า ได้แก่ รพ.พระมงกุฏเกล้า, รพ.จุฬาฯ, รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.ศูนย์ชลบุรี, รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี, รพ.มหาราชนครเชียงใหม่, รพ.ศูนย์ลำปาง, รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก,รพ.มหาราชนครราชสีมา, รพ.ศูนย์สุราษฎร์ธานี, รพ.ศูนย์หาดใหญ่, รพ.ศรีครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รพ.ยโสธร และ รพ.ศูนย์สระบุรี
 นพ.มัยธัช สามเสน
ด้าน นพ.มัยธัช สามเสน ผอ.สถาบันประสาทวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ว่า ประชาชนทั่วไปรู้จักโรคหลอดเลือดสมองกันในนามของอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเป็นการเรียกจากผลของการเกิดโรคนี้ โดยโรคนี้เกิดจากเมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือแบบเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตหากรักษาไม่ทันอยู่ที่ประมาณ 10% และแบบที่สองคือแบบเส้นเลือดในสมองแตก ที่โอกาสการเสียชีวิตจะมีสูงกว่า

“ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้คือผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ก็คือ ผู้ที่สูบบุหรี่และมีไขมันในเลือดสูง ซึ่งปัจจัยบางอย่างก็ป้องกันได้ เช่น หากสูบบุหรี่ก็ขอให้เลิกสูบ อันนี้จะลดความเสี่ยงได้ทันที”

นพ.มัยธัช ฝากคำแนะนำไปถึงผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วยว่า ต้องระวังไม่ให้ความดันเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สามารถควบคุมได้ด้วยการใส่ใจอาหาร อย่ากินรสเค็ม ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องคุมระดับน้ำตาลของตนเองให้ดี

“ส่วนบุคคลทั่วไปก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ เรื่องการออกกำลังกายนี่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงเรื่องของหลอดเลือดสมองแล้วยังลดความเสี่ยงโรคอื่นๆ ด้วย เป็นวิธีแห่งการป้องกันอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกว่าไม่มีเวลา เวลาจะหายใจยังไม่มีเลย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปออกกำลังกาย อันนี้ก็ต้องเลือกเอานะครับ ว่าคุณจะยอมเจียดเวลาไปเพื่อรักษาสุขภาพ หรือคุณจะไม่ใส่ใจมันแล้วรอจนถึงวันที่เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก แล้วมีเวลาไปนอนเฉยๆ เป็นอัมพาตและมีเวลาหายใจทั้งวัน อันนี้ก็อยูที่คุณจะเลือกให้กับชีวิตคุณเอง”
ปวิตร สุภานันท์
และหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่ผ่านนาทีวิกฤต เพราะถูกนำส่งโรงพยาบาลเครือข่ายได้ทันท่วงทีอย่างหนุ่มใหญ่ วัย 54 “ปวิตร สุภานันท์” เจ้าของธุรกิจรับซื้อเศษเหล็กและเศษทองแดง ผู้เพิ่งผ่านประสบการณ์ “เฉียด” ไปหมาดๆ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าเขาเป็นคนที่สุขภาพดีคนหนึ่ง วัดง่ายๆ จากความรู้สึกของตัวเองที่ไม่เคยเจ็บป่วยอะไรถึงขั้นต้องล้มหมอนนอนเสื่อเลยสักครั้ง และปกติก็ตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่มีอะไรผิดปกติ แม้ว่าเป็นคนไม่ออกกำลังกาย แต่ไม่ใช่คนรูปร่างอ้วน จึงเชื่อว่าสุขภาพของตนเองอยู่ในเกณฑ์ดี

“ผมไม่สูบบุหรี่ แต่ดื่มเบียร์บ้าง ไม่ดื่มเหล้า ก่อนจะป่วยก็เพิ่งจะตรวจสุขภาพไปก่อนหน้านี้แค่ 3 วัน ก็ปกติดี วันที่เกิดเหตุผมรู้สึกเพลีย เพราะพักผ่อนไม่พอ คืนก่อนหน้านั้น นอนดึก พอตื่นมาก็ออกไปทำงาน จากนั้นก็โดนเพื่อนลากไปดูรถ รู้สึกง่วงมาก เลยแวะหานวดแผนโบราณเพื่อนวดแล้วก็กะว่าจะหลับสักครู่ นอนให้นวดไปแค่ 10 นาทีก็รู้สึกชาด้านขวาแล้วมันง่วงมาก ตอนนั้นผมคิดว่าผมโดนวางยา ก็ร้องเรียกน้องที่ไปด้วยกันให้พาส่งโรงพยาบาล”
หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นทางหนึ่งของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
ปวิตร เล่าว่า เขาโชคดีมาก ที่ระหว่างที่เกิดโกลาหลขณะจะนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลอยู่นั้น บังเอิญได้พบกัน นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ พอดี ซึ่ง นพ.เรวัติ ได้เข้ามาดูอาการ และแจ้งว่า น่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และแจ้งต่อไปยังศูนย์นเรนทรให้นำตัวเขาไปยังสถาบันประสาทวิทยาในทันที

“ผมถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลภายใน 30 นาทีเท่านั้น หมอบอกว่าเส้นเลือดสมองฝั่งซ้ายของผมตีบ ก็ให้ยาละลายลิ่มเลือด ราคายาตั้ง 70,000 แต่โชคดีประกันสังคมดูแล ผมอยู่ใน Stroke Unit เหมือนห้องไอซียูอยู่ประมาณ 7 วัน ระหว่างนี้ก็ให้ยาแล้วก็ทำกายภาพไปด้วย ตอนลงไปกายภาพเห็นคนป่วยด้วยโรคนี้เยอะมากจนห้องกายภาพแทบไม่พอ ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะแล้ว โชคดีที่ผมเจอคุณหมอเรวัติ ซึ่งส่งตัวผมมารับการรักษาโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไปตลอดชีวิตก็ได้ การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้ทันเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ป่วยจริงๆ ครับ” ปวิตร กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น