xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยเสื่อม! เด็ก-ผู้หญิงเป็นเหยื่อความรุนแรงอื้อ ศธ.เร่งฟื้นการช่วยเหลือกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน
“ชินภัทร” ระบุ เด็ก สตรี ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพียบ เหตุสังคมเอื้อเฟื้อหาย กลายเป็นสังคมตัวใครตัวมัน จนรัฐต้องติดกล้องวงจรปิด ฟื้นวัฒนธรรมช่วยเหลือกัน พร้อมเล็งนำข้อเสนอ พูดไพเราะ ชูสุภาพบุรุษ ลดความรุนแรง

โรงแรมบางกอกพาเลซ วันนี้ (24 มี.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ในฐานะประธานเปิดปฏิบัติการหยุดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กด้วยพลังเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็ก สตรี ซึ่งปัญหานี้ทุกประเทศให้ความสนใจ เพราะมีผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ ยิ่งปัจจุบันหรือยุคดิจิตอล คุ้นเคยกับสังคมไอที อินเทอร์เน็ต แล้วก็พบว่าการใช้ความรุนแรงเปลี่ยนแปลงไปทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ซึ่งกันและกัน มีน้ำใจให้กัน เดี๋ยวนี้ลดลง แทบจะไม่หลงเหลือ

“สมัยหนึ่งเคยมองวิถีชีวิตคนเมือง อย่างคนที่อาศัยอยู่ในลอสเองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา คนญี่ปุ่นที่อาศัยในกรุงโตเกียว มักจะมีพฤติกรรมเร่งรีบ เคร่งเครียด ไม่ค่อยสนใจคนรอบข้าง วันนี้คนไทยจำนวนหนึ่งก็มีลักษณะไม่ต่างจากประเทศดังกล่าว จากเคยเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี คนชรา วันนี้ลดลง สนใจแต่ตัวเองเป็นสังคมตัวใครตัวมัน หรือเรียกว่าทุนทางสังคมลดลง”

นายชินภัทร ชี้ให้เห็นวิถีชีวิต วิถีสังคมที่เปลี่ยนไป ว่า ในอดีตเราจะอาศัยความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน คอยเป็นหูเป็นตาให้กัน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะเข้าไปช่วยเหลือ ทว่า วันนี้เห็นคนถูกกระชากกระเป๋า ร้องให้คนช่วยก็ไม่มีใครกล้าเข้าช่วย ต้องใช้โทรทัศน์วงจรปิดเป็นหูเป็นตาแทน อันที่จริงคนในสังคมช่วยกันดูแลจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม การยุติกรรมรุนแรงต้องดูทั้งครบวงจร ตัวบุคคล ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน และประเทศชาติ

ทั้งนี้ มีโรงเรียนนำร่อง 8 แห่ง คือ โรงเรียนจิตรลดา กทม. โรงเรียนราชินี กทม.โรงเรียนปัญญาวรคุณ กทม.โรงเรียนท่าทองพิทยาคม จ.พิษณุโลก โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนเมืองชุมพรวิทยา จ.ชุมพร โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จ.อุดรธานี และโรงเรียนเสอเพลอพิทยาคม จ.อุดรธานี ร่วมกันระดมสมองค้นหาและหาวิธียุติการใช้ความรุนแรง เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว โดยจะนำข้อเสนอไปขยายผลในสถานศึกษาและชุมชนต่อไป เพื่อลดความรุนแรง

“ข้อเสนอของนักเรียนน่าสนใจ อย่างพูดดี...ไม่มีความรุนแรง หากพูดจากันดีๆ จะไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอกิจกรรม สอนศิลปะป้องกันตัว ไว้ช่วยเหลือตนเองให้รอดพ้นจากการถูกทำร้าย คัดเลือกสุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นที่ต้องการของสังคม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอและกิจกรรมเหล่านี้จะนำไปขยายผลในสถานศึกษาต่อไป ลดปัญหานักเรียนทำร้ายร่างกาย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น