สธ.เตรียมแจกไอไอดีนบำรุงครรภ์ ต่อเนื่องจนลูกโตถึง 5 ขวบ หนุนส่งเสริมพัฒนาการด้านสมอง สั่งเร่งตรวจสอบพิจารณาโครงการ หวังเร่งแก้เด็กไทยปากแหว่งเพดานโหว่
ASTVผู้จัดการรายวัน- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.เตรียมที่จะแจกยาบำรุงครรภ์ที่มีส่วนผสมของไอโอดีน โฟเลต และเหล็กให้แก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กที่จะคลอดออกมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งกรมอนามัยควรตรวจสอบแนวทางในการแจกไอโอดีนชนิดเม็ดให้แก่เด็ก และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะมติของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติออกมาแล้วว่าจะมีการแจกยาบำรุงครรภ์ที่มีส่วนผสมของสารอาหารทั้ง3ตัวให้กับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด และให้ไอโอดีนและเหล็กแก่เด็กภายหลังคลอด โดยจะแจกต่อเนื่องจนถึง 5 ขวบ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมอง และร่างกาย จึงอยากให้เร่งตรวจสอบและรายงานมาที่ตนในการพิจารณาเริ่มโครงการ คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในส่วนของการให้ยาบำรุงครรภ์กับหญิงตั้งครรภ์ เดิมทีมีการให้ยาบำรุงครรภ์ที่เป็นวิตามินธรรมดา อาจจะมีส่วนผสมของไอโอดีน และโฟเลต ไม่ครบถ้วนแก่หญิงตั้งครรภ์ภายหลังตั้งครรภ์แล้ว 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีอวัยวะครบถ้วนแล้ว การให้ยาบำรุงครรภ์จึงไม่มีประโยชน์อะไรต่อการสร้างอวัยวะต่างๆของทารก โครงการใหม่ของรัฐบาลนี้จะเป็นการให้ยาบำรุงครรภ์ที่มีส่วนผสมของไอโอดีน โฟเลต และเหล็กแก่หญิงไทยก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่อวัยวะทารกจะฟอร์มตัวครบถ้วนและให้ต่อเนื่องจนคลอดลูก โดยประมาณการว่าหญิงไทยตั้งครรภ์ปีละ 8 แสนคน แต่ละคนจะต้องรับประทานวันละ 1 เม็ดเป็นเวลาราว 12 เดือน ราคายาบำรุงเม็ดละประมาณ 1-2 บาท น่าจะใช้งบประมาณราว 292 ล้านบาท
นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า โรคขาดสารไอโอดีน เป็นต้นเหตุที่พบมากที่สุดของภาวะปัญญาอ่อนที่ป้องกันได้ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีผลร้ายแรงชัดเจนในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนอายุ 2-3 ปี ทำให้สมองมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลดความเฉลียวฉลาดหรือระดับสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็กได้ถึง 10-13 จุด และเด็กมีปัญหาเรื่องการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน สำหรับโฟเลทถ้าร่างกายได้รับไม่เพียงพอกับความต้องการจะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์หยุดชะงัก ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อทารกที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด และอาการปากแหว่งเพดานโหว่