“ไอทีวอชท์” มูลนิธิกระจกเงา เผยภัยจากการเล่นเว็บ Social Network หรือเครือข่ายออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก-ไฮไฟว์-ทวิตเตอร์ ชักจูงคนแปลกหน้าติดต่อ ต้นปี 53 นี้ มีคนหายแล้ว 5 ราย
น.ส.กรกนก สำเนากลาง หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ภัยจากการเล่นเว็บ Social Network หรือเครือข่ายออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) ไฮไฟว์ (Hi5) ทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะนำไปสู่ปัญหาเด็กหายได้ เนื่องมาจากการชักจูงของคนที่ร่วมติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พูดคุยกันมานาน จนก่อเกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งทางศูนย์ได้รวบรวมสถิติคนหาย เนื่องมาจากภัยเทคโนโลยี โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนถึงขณะนี้พบคนหายจากการติดเกมรวม 2 ราย ขณะที่ปี 2552 พบ 9 ราย เป็นหญิง 1 ราย แต่ติดตามจนพบตัวแล้ว 8 แล้ว เหลืออีก 1 รายอยู่ระหว่างการดำเนินการตามหา
น.ส.กรกนก กล่าวอีกว่า ส่วนคนหายจากการเล่นแชตทางอินเทอร์เน็ต ในปี 2553 พบ 4 ราย เป็นหญิงทั้งหมด โดยหาพบแล้วเพียง 1 ราย เหลืออีก 3 ราย ขณะที่ปี 2552 มีทั้งสิ้น 23 ราย เป็นหญิงทั้งหมดเช่นกัน พบแล้ว 7 ราย เหลืออีก 16 ราย ยังหาไม่พบ ขณะที่การเล่นแชตทางไฮไฟว์ ในปี 2553 พบเพียง 1 ราย เป็นหญิง ขณะนี้หาพบแล้ว ส่วนปี 2552 มี 2 ราย เป็นหญิง ขณะนี้หาพบแล้ว
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเล่นเว็บไซต์ผ่านเครือข่ายออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีอาจทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น เป็นการเล่นทันยุคทันสมัย ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ข้อเสีย หากเล่นแบบหมกหมุ่นก็อาจนำไปสู่ความเดือดร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง กลุ่มเด็กเรียน หรือกลุ่มที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ การหายออกจากบ้าน
ดังนั้น สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องรู้ทันลูกหลาน ไม่ควรให้หมกตัวอยู่แต่ในห้องส่วนตัว หากเป็นไปได้ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้กลางห้อง ให้เป็นของสำหรับทุกคน และควรรู้จักพูดคุยกับลูกหลานให้พวกเขาไว้ใจ และพร้อมเปิดเผยในทุกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่กลับไม่เคยสนใจ จนเกิดปัญหาในที่สุด