xs
xsm
sm
md
lg

“รังสิตโมเดล” ปั้นครู (พันธุ์ใหม่) ฉบับ “ดร.อาทิตย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

จุดเน้นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 เพื่อมุ่งสู่การให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือการ "พัฒนาครู" ซึ่งเรื่องนี้ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะคณะทำงานคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ที่มี “นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นประธาน ได้ฝากแนวทางการพัฒนาครูไว้ โดยยก “รังสิตโมเดล” เพื่อเสนอทางเลือกไปยังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต
“ครูต้องมาจากคนที่เก่งที่สุด” นี่คือสิ่งที่ ดร.อาทิตย์ ให้นิยามไว้กับรังสิตโมเดล คนเก่ง คือ เก่งในสาขาที่ตัวเองถนัดทั้ง สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น แล้วนำคนเหล่านี้มาเพิ่มพูนความรู้วิชาชีพครู โดยใช้สูตร 4 + 2 = 5 โดยการวางแผนการเรียนป.ตรี ควบป.โท ศึกษาศาสตร์ คือเรียนสาขาเอก 4 ปี เพิ่มวิชาครูอีก 2 ปี แต่หากวางแผนการเรียนดีๆ ก็จะจบได้ภายใน 5 ปี แต่ทว่าหลักสูตรนี้ต้องเน้นเพื่อคนที่อยากเป็นครูจริงๆ เมื่อองค์ความรู้แน่น เทคนิคแม่น จริยธรรมได้ ครูเก่ง ครูดี ก็จะเกิดขึ้น

“ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในกรณีของ ม.รังสิต ซึ่งมหาบัณฑิตครูพันธุ์ใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว และสอนอยู่ใน ร.ร.สาธิต ม.รังสิตซึ่งแต่ละคนจบเกียรตินิยมอันดับ 1 อันดับ 2 ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา คอมพิวเตอร์ ไอที และมาต่อปริญญาโทศึกษาศาสตร์ทั้งสิ้น แต่จะขายเพียงแค่อุดมการณ์อย่างเดียวเชื่อว่าไม่น่าจะดึงดูดให้คนมาเรียนได้ ดังนั้น เราก็ต้องรับประกันเงินรายได้ เมื่อจบตรงนี้มาค่าตอบแทนต้องสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป ซึ่งก็ได้รับจริงๆ ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นไปได้จากรังสิตโมเดล และเรื่องนี้จะได้มีการผลักดันเข้าสู่หัวข้อการปฏิรูปการศึกษาฯ ครั้งนี้แล้ว จะทำไม่ทำอีกเรื่องหนึ่ง” ดร.อาทิตย์ ขยายความ

ดร.อาทิตย์ อธิบายอีกว่า อยากเห็นรังสิตโมเดลใช้ได้กับไทย แต่คิดว่ายังติดขัดอีกหลายอย่าง ต้องปรับปรุงและปฏิรูปครูทั้งประเทศ คือ 1. หาคนเก่ง 2.ให้เงินเดือนสูง 3.ปรับระบบตำแหน่งครู เพราะที่ผ่านมาครูจะมุ่งไปสู่ตำแหน่งบริหาร ซึ่งคนที่เป็นครูก็ต้องเป็นครูตลอดไป แต่ระดับตำแหน่งของครู จะต้องปรับขึ้นเรื่อยๆ เช่น ครูคนหนึ่งสอนวิชาไหน ก็สอนวิชานั้นไปตลอด แต่เงินเดือนก็จะขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตามแต่ระดับ อาจจะขึ้นได้เทียบเท่ากับปลัดกระทรวงก็ได้

สำหรับปัญหาเรื่องครูขาดแคลนนั้นก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมต้องให้ครูเกษียณในวัย 60 ปี? เปลี่ยนเป็นอายุ 70 ปี แล้วค่อยเกษียณจะได้หรือไม่? แต่หากคนไหนที่สุขภาพไม่เอื้ออำนวย ไม่ไหวก็ให้หยุดก่อนได้ หากทำอย่างนี้ได้เชื่อว่าครูดี มีประสบการณ์ จะไม่ขาดหายไปแน่นอน

นอกจากนี้ ดร.อาทิตย์ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า โรงเรียนทั้งหลายต้องพยายามปรับเป็นโรงเรียน 2 ภาษา ให้ได้ เพราะการศึกษาไทยหากยังเรียนอยู่แบบเดิม จุดอ่อนก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ สู้ต่างชาติไม่ได้ ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นภาษาที่ 3, 4 ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดนั่นคือ ภาษาและวัฒนธรรมไทย

“การศึกษาไทยล้มเหลวมาก เราเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ ป. 1 หรือตั้งแต่อนุบาล เรียนเยอะมาก แต่ไม่ได้เรื่องเลย ถึงขนาดว่าคนจบ ป.โท ก็ยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ ปัญหาคือเราเรียนแค่ผ่านๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถนำมาใช้การได้ หากจะเอากันจริงๆ จังๆ ก็ต้องลงทุนเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อให้พูดภาษาอังกฤษได้ แล้วทำไมต้นทุนที่เราเรียนมาตั้งแต่แรกถึงไม่ได้รับการพัฒนาตรงนี้น่าคิด” ดร.อาทิตย์ ให้ภาพ

ถึงตรงนี้ อธิการบดี ม.รังสิต ยังฝากแง่คิดไว้ด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นกระทรวงหลักของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่จะมีการปรับเปลี่ยนผู้นำกันบ่อยๆ ส่วนตัวมองว่า "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" รมว.ศธ. ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจด้านการศึกษา แต่การเข้ามาแทนที่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ถือว่าเป็นวิธีการที่ผิด เพราะงานเรื่องการศึกษากำลังเดินหน้าด้วยดี

"นี่คือกระบวนการที่ไม่เข้าท่า ทำให้รู้ว่ากระบวนการเข้าสู่การเมืองในปัจจุบันไม่ใช่เพื่องาน แต่เพื่อโควตาของพรรคเท่านั้น"  ดร.อาทิตย์ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น