xs
xsm
sm
md
lg

ออกกำลังแบบ“โนราบิก” วิถี“มิกซ์เอกซ์เซอร์ไซส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กัลยา จันทวงศ์ ครูภูมิปัญญาด้านศิลปะ
“มโนราห์” หรือ “โนรา” เป็นนาฏศิลป์ที่นิยมกันมากทั่วภาคใต้ ไม่ว่างานเทศกาลนักขัตฤกษ์หรืองานมงคลใดๆ มักจะมีโนรามาแสดงด้วยเสมอ ผู้คนมักจะคุ้นเคยกับโนราพัทลุง หรือนครศรีธรรมราช หากแต่ “เกาะภูเก็ต” ก็มีโนราที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ใช่น้อย ทั้งท่ารำและคำร้องที่ออกสำเนียงภูเก็ตเด่นชัดนั่นเอง

แต่สิ่งที่น่ากังขาของศิลปะการแสดงชนิดนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้รำแม้อายุจะล่วงสู่ 70 ปี แต่ยังสามารถยกแยก และแหกแขนขาได้กว้างจนน่าแปลกใจ
 
ร.ต.บัญญัติ จริยะเลอพงษ์ แกนนำคนสำคัญของชุมชนบ้านแขนน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เล็งเห็นว่าโนรานั้นทำให้ผู้รำมีร่างกายแข็งแรง จึงเกิดแนวคิดนำเอาท่าโนรามาเป็นท่าออกกำลังกาย หลังจากนั้นก็ประยุกต์ท่ารำให้เข้ากับจังหวะเพลงพร้อมกับปรึกษากับฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟูของโรงพยาบาล เพื่อให้ได้ท่าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย


โนราบิก ประยุกต์โนราเป็นเอ็กซ์เซอร์ไซส์
...ผลพวงที่ได้ออกมาคือการออกกำลังกายวิถีใหม่ที่ถูกตั้งชื่อว่า “โนราบิก” ที่นอกจากได้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปของท้องถิ่นอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษตามวิถีใต้โดยแท้ และขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย


ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับนาฎศิลป์ประจำถิ่น


กัลยา จันทวงศ์ หรือ ครูยา ผู้คิดท่ารำโนราบิก ในฐานะครูภูมิปัญญาด้านศิลปะ เล่าว่า โนราบิกประยุกต์จากท่ารำของโนรา ผสมผสานกับการเต้นประกอบเพลง และโยคะ ดัดแปลงจนได้ 19 ท่ามาตรฐาน ในแต่ละท่าของโนราบิก จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด ความยืดหยุ่นและความสมดุลของร่างกาย อาทิ ท่าที่ 5 ท่ามือเท้าสะเอว ยืดขาสองข้าง ท่าที่ 6 ท่ามือเท้าสะเอว ยืดขายกแขน จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อหลังไหล่ กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อคอ หรือ ท่าที่ 9 โตเล่นหาง และท่าที่ 10 ปลาล่องวารี จะช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อแขนและขา ส่วนท่าที่ทำให้จิตใจสงบและประสาททำงานได้ดีขึ้น คือ ท่าที่ 1 ท่าเทพพนม และท่าที่ 19 ท่าพระพุทธเจ้าห้ามมาร เป็นต้น
น้องเอิร์นและน้องเคสาธิตท่าโนราบิก


ครูยาบอกว่าในช่วงเริ่มต้นนั้นมีเสียงคัดค้านจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความเชื่อเรื่องหมอครูโนราที่ว่า เด็กคนใดก็ตามที่ได้เริ่มรำโนราแล้วจะต้องเป็นโนราตลอดชีวิต ซึ่งใช้เวลากว่าจะสร้างความเข้าใจและผนวกท่าทางของการเต้นและการรำเข้าด้วยกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี แต่เมื่อได้รับการยอมรับแล้ว โนราบิกก็แพร่หลายอย่างรวดเร็วในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง

“ตอนแรกที่คิดท่าต่างๆ กลุ่มเป้าหมายของเราคือ ผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อหากิจกรรมให้ได้ออกกำลังกาย แต่ก็อยากให้การแสดงโนรามีคนสืบทอด จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสนใจและเข้าร่วมกับศิลปะการแสดงชนิดนี้ เพราะถ้าตัดเรื่องปัญหาหมอครูซึ่งเป็นความเชื่อของโนราออกไป โนราบิกก็คือการออกกำลังกายกลุ่ม และการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี โดยนำจังหวะเร็วของโนราเข้ามา และเนื่องจากเคยเรียนโยคะมาจึงนำเอาท่าแอโรบิกและโยคะมาดึงดูดใจเด็กๆด้วย ตอนนี้โนราบิกจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภูเก็ต และกลายเป็นกิจกรรมสำหรับออกกำลังกายในทุกโรงเรียนไปแล้ว” ครูยาเล่า
ท่าควายยืดแขน


ด.ญ.ศุภลักษณ์ จันทวัฒน์ หรือ น้องเอิร์น อายุ 11 ปี ชั้นป.5 โรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ เรียนเต้นโนราบิกเกือบ 1 ปี บอกว่า ไม่คิดว่าการแสดงโนราจะมาออกกำลังกายได้ แต่เมื่อได้มาลองแล้วพบว่าเป็นการออกกำลังกายได้ทุกส่วน เป็นศิลปะที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยไม่ยากที่จะเรียนรู้ อีกทั้งเป็นการแสดงสามารถยืดหยุ่นร่างกาย จากตัวแข็งก็ตัวอ่อนได้ และแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้

“หนูเคยเห็นป้าๆ เต้นโนราบิกแล้วทุกคนแข็งแรงมาก ตอนเย็นๆ ที่อื่นเขารวมตัวกันเต้นแอโรบิก แต่ที่บ้านแขนนเราจะเต้นโนราบิก จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ 19 ท่า เต้นแค่ 30 นาทีเหงื่อก็ออกเต็มตัวแล้ว เป็นการออกกำลังที่ดีมากๆ ค่ะ และการเต้นนี้ทำให้หนูอยากเรียนรำโนราแบบดั้งเดิมด้วย เพราะท่ามันสวย เป็นเอกลักษณ์ และอยากดัดตัวให้ได้อ่อนๆ แบบที่ครูทำ”
ท่ายืดแขนจีบสองมือ


ขณะที่ ด.ช.พิชัย ทิพย์แก้ว หรือน้องเค อายุ 12 ปี ชั้นป.6 โรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ เต้นโนราบิกมานานกว่า 3 ปี ให้ความเห็นว่า นอกจากได้ออกกำลังกายและคงเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาชาวใต้ไว้แล้ว การเต้นโนราบิกยังช่วยคลายเครียดได้อย่างไม่น่าเชื่อด้วย สำหรับท่าที่ชอบที่สุดคือ ท่ามือเท้าสะเอว เป็นท่าที่ช่วยลดอาการปวดเอว และช่วยกระชับหน้าท้องได้ด้วย

อีกสิ่งที่การันตีได้ว่าการค้นคว้าภูมิปัญญาผสมกับการเต้นได้ผลดี คือ ผลงานวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เรื่อง “ผลการออกกำลังกายด้วยโนราบิกต่อสภาวะสุขภาพของสมาชิก” พบว่า ด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด และความสมดุลของร่างกายดีขึ้นร้อยละ93.9 ความอ่อนตัวดีขึ้น ร้อยละ 90.9 โดยส่วนใหญ่สามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น ร้อยละ 90.9 มีความอยากรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.8 ความวิตกกังวล/ซึมเศร้า น้อยลง ร้อยละ 75.8 การนอนดีขึ้น ร้อยละ 87.9 และกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดประเมินว่าตนเองมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น

วันนี้โนราบิกมีศูนย์กลางอยู่ที่ ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านแขนน จ.ภูเก็ต ซึ่งไม่เพียงแต่โนราบิกเท่านั้นที่กลายเป็นเอกลัษณ์ของชาวภูเก็ตแต่ที่นี่ยังมีอาหารการกินแบบพื้นบ้านที่เรียกว่าเพื่อสุขภาพโดยแท้อยู่ด้วย ผู้คนจึงสดใสและแข็งแรงดังที่เห็น...
กำลังโหลดความคิดเห็น