xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยอัมพาตก็ยืนได้! Siriraj stand up wheelchair ฝีมือไทยได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับผู้ป่วยที่ประสบภาวะอัมพาตครึ่งท่อนและจำต้องนั่งอยู่บนรถเข็น เชื่อแน่ว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเหล่านั้นปรารถนาที่สุดคือ “อยากยืนได้อีกครั้ง” เพราะนอกจากสภาพที่ต้องนั่งจมกับความทุกข์ในข้อจำกัดด้านร่างกายบนรถเข็น รอคอยญาติมิตรให้เข็นไปไหนมาไหนได้บ้างแล้ว สิ่งที่ซ้ำเติมพวกเขาจากการนั่งก็คือ “แผลกดทับ” ที่ผู้ป่วยอัมพาตหลายคนต้องเผชิญกับมันอย่างขมขื่น

“ผู้ป่วยที่อัมพาตครึ่งท่อนล่าง จะต้องนั่งรถเข็น ไม่สามารถยืนได้ ยกเว้นญาติจะประคอง ก็จะเป็นการยืนแบบทุลักทุเล หรือมายืนที่แท่นยืนในโรงพยาบาล ก็จะต้องเดินทางมา หรือต้องใช้เหล็กดามขา ก็ยืนได้แค่สั้นๆ และอย่างหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนที่ต้องนั่งบนรถเข็นก็คือแผลกดทับ ที่เกิดจากการนั่งกดเนื้อผิวหนังในท่าเดียวนานๆ ที่แม้ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกและไม่เจ็บแผล แต่แผลกดทับหากเป็นมากก็จะกินเนื้อได้ลึกมาก ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ และต้องเทียวเข้าออกโรงพยาบาลอยู่ตลอด”

รศ.พญ.ศรีนวล ชวศิริ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเด็ก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลให้ภาพความลำบากของผู้ป่วยเหล่านี้ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่เสมือนหนึ่งเป็นความหวังของผู้ป่วยที่ในชีวิตนี้ไม่เคยแม้แต่จะกล้าคิดว่าตัวเองอาจจะมีโอกาส “ยืน” ได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

“คิดมาเป็น 10 ปีแล้วที่อยากทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้คลายจุดที่กดทับบ้าง เพื่อแก้ปัญหาแผลกดทับ แล้วก็ลดปัญหากล้ามเนื้อหดติดเมื่ออยู่ในท่าเดียวนานๆ จริงๆ ในต่างประเทศก็มีรถแบบนี้ แต่แพงมาก คือราคาตัวละ 2-3แสนบาท ผู้ป่วยบางคนก็อาจจะเข้าถึงยากด้วยเศรษฐสถานะ จึงอยากพัฒนาเองด้วยฝีมือคนไทยแต่ต้องทำให้ได้มาตรฐานสากล”

รศ.พญ.ศรีนวลจึงได้คิดทำเจ้าประดิษฐกรรมที่ชื่อว่า Siriraj stand up wheelchair โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย UOES ในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนากลไกต่างๆ

“แต่หลักๆ แล้วกลไกหลักๆ และการพัฒนารูปแบบจะเป็นไอเดียของเรา ที่ไปจับมือกับญี่ปุ่นเพราะอยากให้ได้มาตรสากล เพราะญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ ความเรียบร้อยของชิ้นงาน ความกะทัดรัด ความสะดวกในการใช้งาน ขณะนี้ Siriraj stand up wheelchair พัฒนาเสร็จแล้ว จดสิทธิบัตรแล้วในนามของคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และทำออกจำหน่ายแล้วตัวละ 55,000 บาท ตอนนี้ขายไป 30 กว่าตัว เสียงตอบกลับค่อนข้างดี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูรายนี้อธิบายถึงวิธีการทำงานแบบคร่าวๆ ของรถเข็นชนิดนี้ว่า กลไกที่ใช้เป็นกลไกพื้นฐาน ไม่ใช่กลไกอิเล็คทรอนิกส์ ในการยืนผู้ป่วยสามารถบังคับกลไกได้ด้วยตัวเอง ด้วยการใช้แขนโยกคันโยกที่อยู่ด้านข้าง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อยืนอีกต่อไป

“ตอนนี้รถเข็น Siriraj stand up wheelchair สำหรับผู้ป่วยอัมพาตเฉพาะท่อนล่างพัฒนาจนเสร็จแล้ว แต่เราจะต่อยอดต่อไป เพื่อประดิษฐ์รถเข็นยืนได้สำหรับผู้อัมพาตทั้งตัวและคนชรา รวมไปถึงจะพัฒนารถเข็นยืนได้เพื่อผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกด้วย” รศ.พญ.ศรีนวลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น