xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ระดมผู้รู้หนุนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชิญผู้รู้ด้านการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการ สร้างเครื่องมือนิเทศ ติดตาม และประเมินผล โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครูที่ สพฐ.ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน และสถานศึกษา จำนวน 5,340 ครอบครัว ในการร่วมจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการก่อนวัยเรียน วัยเรียน และเด็กพิการรุนแรงที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียน ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะในการดำรงชีวิต มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามศักยภาพของเด็กพิการ

นายธีระ จันทรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ.ได้เริ่มโครงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการโดยครอบครัวและชุมชน โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่ ผู้ปกครอง และเด็กพิการ ศูนย์เด็กเล็ก และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแล พัฒนาช่วยเหลือเด็กพิการได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้เด็กพิการก่อนวัยเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยร่วมจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามศักยภาพของเด็กพิการ การเตรียมความพร้อม จัดหาสื่อ และส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กพิการรุนแรงตามบ้านจำนวน5,340 ครอบครัว สิ่งสำคัญที่จะให้การดำเนินการโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จนั้น การนิเทศ ติดตาม และการประเมินผลการดำเนินงาน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง สพฐ.จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครื่องมือการนิเทศ ติดตาม และประเมินผล และเมื่อได้เครื่องมือดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการกลุ่มสถานศึกษาที่จัดการศึกษาหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และ สพฐ.จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการนิเทศ ติดตาม และการประเมินผลในภาพรวมของโครงการต่อไป

“ครอบครัว ชุมชน ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการ จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้มีองค์ความรู้ในการคัดกรองเด็กที่บกพร่อง การให้คำปรึกษาในการเลี้ยงดู สามารถ แนะแนวให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงดูและแนวทางในการศึกษาให้กับเด็กพิการได้ หากมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องดังกล่าวจนเกิดการพัฒนา ก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิการ และเด็กพิการรุนแรงที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการพัฒนาตนเองในทุกมิติของสังคมได้ ” ผู้อำนวยการ สศศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น