“จุรินทร์” สั่ง อย.-กรมอนามัย-สสจ.คุมเข้มตรวจสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูในตลาดสดทั่วประเทศ หลังพบฟาร์มเลี้ยงหมูใน จ.นครปฐม ใช้สารเร่งเนื้อแดงไปผสมในอาหารเลี้ยงหมู หวั่นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคกล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ วิงเวียน คลื่นไส้ ฯลฯ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไทรอยด์ รวมทั้งทารกและหญิงมีครรภ์ยิ่งอันตราย แนะเลือกซื้อเนื้อหมูสังเกตไม่ซื้อมีสีแดงผิดธรรมชาติ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พบว่ามีฟาร์มเลี้ยงหมู ในจังหวัดนครปฐม ใช้สารเร่งเนื้อแดงไปผสมในอาหารเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคว่า ได้ให้กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานอาหารและยาและสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เข้าไปสุ่มตรวจเนื้อหมูที่มีวางจำหน่ายในตลาดสดทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดสดน่าซื้อ ที่กำหนดไว้ว่าตลาดสดที่จะผ่านเกณฑ์เป็นตลาดสดน่าซื้อ ขณะนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ร้อยละ 60-70 ที่นำอาหารมาจำหน่าย ต้องปราศจากสารปนเปื้อนอันตราย 6 ชนิด ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงเป็น 1 ใน 6 สารต้องห้าม มั่นใจได้ว่าเรามีการตรวจสารปนเปื้อนทั้ง 6 ชนิดในอาหารเป็นระยะอยู่ตลอดอยู่แล้ว แต่ก็จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย
“ก่อนเลือกซื้อเนื้อหมูบริโภค ขอให้ประชาชนสังเกตสีของเนื้อหมู หากมีสีแดงจัดผิดปกติ ไม่ควรซื้อ ส่วนในการออกตรวจสารเร่งเนื้อแดงครั้งนี้ จะต้องทำทั้งต้นทางและปลายทาง โดยการตรวจต้นทางในฟาร์มเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ส่วนปลายทางเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หากพบผู้กระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิเศษ มอบเป็นนโยบายสำคัญ และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง เพราะต้องการให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สารที่ใช้เร่งเนื้อแดง ได้แก่ สารซาลบูทามอล และสารเคลนบูเทอรอล ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด มีการนำไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงหมูเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของหมู ช่วยทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้นและมีไขมันน้อย สารดังกล่าวมีอันตรายต่อผู้บริโภค อาจจะทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่มีความไวต่อสารนี้เช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคไทรอยด์ รวมทั้งทารกและหญิงมีครรภ์
สำหรับข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงธรรมชาติ มีมันหนาบริเวณสันหลัง เมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวาง มีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจน ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงซึ่งจะมีสีแดงเข้มกว่าปกติ และเมื่อหั่นทิ้งไว้เนื้อหมูจะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง