สวช.เลือก 3 ชุมชนลุ่มน้ำโขงนำร่องพัฒนานิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของลำน้ำกลับคืน มอบมหา’ลัยทำวิจัยร่วมกับคนในพื้นที่ คัดตัวแทนสร้างความเข้าใจไปถ่ายทอดให้ชุมชน
วันนี้ (23 ก.พ.) นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมีการพิจารณาโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ชุมชนลุ่มน้ำโขง ชี มูล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เสนอ โดยเห็นว่าจะเป็นการเชื่อมโยงจิตใจของคนในชุมชนให้หันมาอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการนำนิเวศทางวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ที่ประชาชนตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากปัจจุบันกลับเกิดชุมชนที่มีวัฒนธรรมบริโภค และสังคมอ่อนแอลง
ดังนั้น สวช.จึงได้มีการคัดเลือกชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับลุ่มแม่น้ำ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ชุมชนตำบลไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนบน เป็นสาขาของแม่น้ำโขง 2.ชุมชนตำบลยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะพัง (สาขาของแม่น้ำชี) และ 3.ชุมชนตำบลหนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ลุ่มลำน้ำชี สาขาของแม่น้ำมูล เพื่อนำร่องในการจัดโครงการพัฒนานิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ให้เกิดการฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของการอนุรักษ์ลำน้ำในท้องถิ่นให้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน
นายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการ กวช.กล่าวว่า สวช.ได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน โครงการดังกล่าวในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2556 เริ่มจากการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคณะทำงานลุ่มแม่น้ำจังหวัด รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการอนุรักษ์ลุ่มน้ำร่วมกับคนในชุมชน โดยมอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ศึกษาแนวทางการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับคนในพื้นที่ ว่าจะมีการใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ลุ่มน้ำของชุมชนได้อย่างไร เช่น การรณรงค์ไม่ใช้สารพิษในพื้นที่ต้นน้ำ การให้เกษตรกรปลูกพืชหมุนเวียนแทนการปลูกพืชเชิงเดียว เพื่ออนุรักษ์หน้าดิน การใช้ทรัพยากรน้ำแบบคุ้มค่าตามวิถีชีวิตของชุมชน เป็นต้น จากนั้นจะนำองค์ความรู้ที่ได้มาแก้ไขปัญหา หรือ พัฒนาต่อยอดให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ สวช.จะมีการพัฒนาบุคลากรทางวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค หรือ จังหวัด โดยการส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศวัฒนธรรม เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน รวมทั้งจะมีการส่งเสริมการผลิตสินค้าชุมชน ให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนนั้นๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นด้วย