ผลตรวจลูกชิ้นเรืองแสงพบแบคทีเรีย ลูมิเนสเซนท์ ระบุไม่พบเป็นอันตรายต่อคน แต่แนะนำหลีกเลี่ยงบริโภค หรือทำให้สุกก่อนรับประทาน ส่วนเอาผิดเจ้าของลูกชิ้นเรืองแสงหรือไม่ รอผลตรวจปริมาณแบคทีเรียเกินค่ามาตรฐานหรือไม่
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสธ.ว่า ความคืบหน้าผลการตรวจวิเคราะห์ลูกชิ้นเรืองแสงว่า จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 28 ตัวอย่างพบมีสารเรืองแสงเฉพาะลูกชิ้นที่ผลิตจากโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร เพียงกรณีเดียว โดยตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ลูมิเนสเซนท์ (Luminescence) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในโปรตีนลูซิเฟอริน (Luciferin) ทำให้เกิดการเรืองแสงได้ ซึ่งเป็นแบททีเรียที่พบได้ในน้ำทะเล จึงพบได้ในสัตว์ทะเลตาม ธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูหนาว แต่ยังไม่พบการศึกษาใดที่ระบุว่าแบคทีเรียดังกล่าวเป็นอันตรายต่อคน
“จากการตรวจสอบคาดว่า แบททีเรียเกิดการเรืองแสงช่วงใดช่วงหนึ่งของกระบวนการผลิต ซึ่งอาจเป็นการปนเปื้อนจากมือของพนักงานหรืออุปกรณ์บางส่วนภายในโรงงานโดยเฉพาะช่วงที่นำลูกชิ้นมาแช่ในน้ำเย็น นอกจากนี้แบคทีเรียดังกล่าวอาจพบได้กับโปรตีนในเนื้อปลาซึ่งเมื่อเจอกับแบคทีเรียดังกล่าวก็เกิดปฏิกิริยาเรืองแสงได้เอง” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนโรงงานผู้ผลิตลูกชิ้นรายนี้ เข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ ต้องตรวจวิเคราะห์ต่อไปว่าแบคทีเรียลูมิเนสเซนท์ในลูกชิ้นมีปริมาณเกินมาตรฐานตามที่คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดหรือไม่ โดยกำหนดแบคทีเรียไม่เกิน 1 ล้านตัวต่อปริมาณ 1 กรัม หากตรวจสอบพบว่าเกิดค่ามาตรฐานก็ถือว่าผิดมาตรฐานอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตลูกชิ้นรายนี้บรรจุภัณฑ์ไม่มีฉลากได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้จะดำเนินการต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ขอแนะนำผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกชิ้นเรืองแสง แม้ว่าจะแบคทีเรียชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่อาจมีแบคทีเรียชนิดอื่นที่ปนเปื้อนมากับลูกชิ้นทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งหากจะรับประทานก็ควรทำให้สุกเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับลูกชิ้น หรือก่อนซื้อควรจะสังเกตว่ามีฉลากถูกต้องหรือไม่ โดยดูวันเดือนปีที่ผลิต และสถานที่ผลิต ไม่ควรรับประทานลูกชิ้นที่ผลิตไว้นานเกิน 1-2 วัน และควรเก็บไว้ในที่เย็น