นอกจากอาหารหลักประจำมื้อแล้ว เด็กและขนมเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด ยิ่งในยุคนี้สงครามการโฆษณาสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่มีจนล้นตลาดขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น กลยุทธ์การล่อใจต่างๆ ถูกงัดขึ้นมาเพื่อดึงเม็ดเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ จึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของพ่อแม่ที่ต้องคัดเลือกขนมที่ดีมีประโยชน์
สาหร่ายแผ่นกรอบๆ ที่บรรจุซองสีสันสดใส รสชาติออกเค็ม เป็นอีกหนึ่งขนมที่เด็กๆ ส่วนใหญ่นิยมกิน ซึ่งพ่อแม่บางรายมีทัศนคติต่อขนมชนิดนี้ว่า ค่อนข้างดีและมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าขนมกรุบกรอบที่ทำจากแป้งโรยผงชูรสชนิดอื่น ทว่าความคิดนี้จะจริง-เท็จอย่างไร แถมเมื่อปีก่อนนี้ก็มีข่าวสาหร่ายแห้งสำหรับต้มจากประเทศจีนมี “พลาสติก” ปนเปื้อน แล้วสาหร่ายที่ลูกหลานชอบกินจะปลอดภัยแค่ไหน
...วันนี้เรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการมาฝากกัน
อ.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการชื่อดังกล่าวย้ำก่อนจะเข้าประเด็น “สาหร่าย” ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่า อาหารว่างหรือขนมที่ดีที่สุดของลูกหลาน นอกเหนือกจากอาหารหลัก 5 หมู่ในมื้ออาหารประจำก็คือผลไม้และนม ผลไม้เป็นอาหารว่างแคลลอรี่ต่ำ มีแร่ธาตุและสารที่มีประโยชน์หลายชนิด
“ไม่ใช่ห้ามกินขนมนะครับ ขนมก็กินได้ แต่พ่อแม่ต้องเลือกขนมหรือSnack คุณภาพดีให้ลูกกิน ทุกวันนี้ในตลาดบ้านเรามี Snack เยอะมาก แต่หากคุณภาพดีค่อนข้างยาก ตีเสียว่าใน10ห่อจะมีคุณภาพต่ำเสีย 9 ห่อ เหลืออีกห่อเดียวที่พอกินได้ ที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ต้องอ่านฉลากว่าในขนมที่จะเลือกให้ลูกกินนั้นมีอะไรผสมอยู่บ้าง”
ส่วนในประเด็นของสาหร่ายนั้น อ.สง่าฟันธงว่า หากเป็นสาหร่ายแท้จากธรรมชาติจัดว่าเป็น Snack ที่ดี ระหว่างขนมกรุบกรอบใส่ผงชูรสกับสาหร่าย หากเปรียบเทียบกันพ่อแม่ก็ควรจะเลือกสาหร่าย แต่ต้องดูยี่ห้อที่ไว้ใจได้ว่าเป็นสาหร่ายแท้ ไม่มีอะไรปนเปื้อน เชื่อถือได้ และมีหน่วยงานด้านโภชนาการรับรอง
“สาหร่ายแบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ๆ คือสาหร่ายน้ำจืดและสาหร่ายทะเล มีวิตามินแร่ธาตุและมีโปรตีนทั้งคู่ แต่ในสาหร่ายทะเลจะมีแร่ธาตุตัวหนึ่งที่ดีต่อร่างกายของเด็กมากคือไอโอดีน แนะนำว่าถ้าจะเลือกกินให้กินสาหร่ายทะเลดีกว่า ไอโอดีนนี้จะช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโตดี สมองดี ไม่แคระแกร็น ส่วนโปรตีนในสาหร่ายนั้นพบว่าในสาหร่าย 1 ขีด หรือ 100 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 10-40 กรัม ซึ่งในน้ำหนักเท่ากันในหมูหรือปลาถือว่าปริมาณโปรตีนที่ได้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน และอีกอย่างที่ดีมากก็คือใยอาหาร สาหร่ายมีเยอะและน่าจะเชียร์ให้เด็กกิน เพราะพบว่ามีใยอาหารถึง 24 – 40 กรัมต่อสาหร่าย 1 ขีด”
นักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนี้กรรมวิธีการทำสาหร่ายให้เป็นอาหารยังมี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบปรุงรสและแบบไม่ปรุงรส พ่อแม่ควรเลือกให้ลูกกินแบบไม่ปรุงรสเพื่อลดการกินเกลือและเครื่องปรุงรสอื่นๆ หรือสาหร่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่แนะนำคือสาหร่ายที่นำมาต้มกับแกงจืด สามารถใส่กับทุกแกงจืดเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร
““แต่ไม่ใช่ว่าสาหร่ายมีคุณค่าทางอาหาร และดีกว่าขนมผงชูรสอื่นๆ แล้วพ่อแม่จะให้ลูกกินแต่สาหร่ายเป็น Snack อย่างเดียวทุกวัน แต่ควรสลับกันไประหว่างผลไม้ นม สาหร่าย และขนมดีอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นและสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อย่างหลากหลายและครบถ้วน ส่วนปริมาณสาหร่ายที่พอเหมาะในแต่ละวันที่กินได้ ถ้าเป็นสาหร่ายแห้งที่ต้มเป็นแกงจืดไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นสาหร่ายปรุงรสควรจะกินไม่เกิน 1 ซองเล็ก คือประมาณ 4 แผ่น ถ้ามากกว่านั้นอาจจะได้โซเดียมเกินความจำเป็น อีกนิดทีอยากฝากก็คือสำหรับคนที่กินสาหร่ายเม็ดเป็นอาหารเสริมควรระวังสักหน่อย เพราะในสาหร่ายมีกรดยูริค ถ้ากินแบบธรรมชาติจะไม่มากนัก แต่หากสกัดทำเป็นเม็ดจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคนที่เป็นโรคเก๊าต์ ”” อ.สง่ากล่าวในที่สุด
แต่ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอีกรายหนึ่งอย่าง รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์และผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กลับมองว่าไม่ควรให้เด็กกินสาหร่ายในรูปแบบขนมขบเคี้ยว โดยอธิบายว่า จริงๆ แล้วประเทศที่มีประชากรนิยมกินสาหร่ายมากที่สุดประเทศหนึ่งอย่าง “ญี่ปุ่น” นั้น ไม่ใช่การนำมากินเล่นในรูปแบบขนมอย่างเด็กไทยบ้านเรา
“คนญี่ปุ่นจะกินสาหร่ายแบบเป็นกับข้าว เช่นใส่ในซุปเต้าเจี้ยวบ้าง แบบแผ่นก็ไว้ห่อข้าวปั้น หรือตัดเป็นแผ่นสั้นๆ แล้วใช้ตะเกียบคีบห่อข้าวในชามเป็นการเพิ่มพื้นที่การคีบข้าว”
รศ.ดร.วินัยกล่าวต่อไปว่า ในกรณีเป็นสาหร่ายแท้ ปลอดภัย ไม่มีสารพิษปลอมปนเหมือนอย่างที่สาหร่ายจีนที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าสาหร่ายปลอดภัยด้วยตัวมันเอง เพราะเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่การปรุงรสหลังจากนั้น สาหร่ายที่นำมาทำเป็นขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่นิยมปรุงรสด้วยเกลือให้เค็ม รวมถึงผงปรุงรสอื่นๆ ให้เข้มข้นชวนกิน
“แม้จะเป็นสาหร่ายที่ผ่านการปรุงรสแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นเขากินกับข้าว มันก็จะช่วยเจือจางลงไปได้ แต่ที่บ้านเรากินเปล่าๆ ก็จะได้รับเครื่องปรุงรสและเกลือแบบเต็มๆ ผมคิดว่ามันเหมือนกับที่เราพยายามห้ามเด็กของเราไม่ให้กินบะหมี่สำเร็จรูปดิบๆ ที่นำมาโรยผงชูรสแล้วกินแบบกรอบๆ นั่นแหละครับ สาหร่ายปรุงรสและใส่เกลือมากนี้หากเด็กกินติดต่อกันนานๆ ก็จะสะสมเกลือ ไตทำงานหนัก นานๆ เข้าก็เป็นความดันโลหิตสูง”
แต่ไม่ใช่ว่าคณบดีคณะสหเวชฯ รายนี้จะมองเห็นแต่ด้านลบของสาหร่ายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะรศ.ดร.วินัยมองว่า ในสาหร่ายก็มีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากเช่นกัน
“ไม่ใช่ว่าตัวสาหร่ายจริงๆ ไม่ดี แต่ที่เราห่วงคือส่วนปรุงรส แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเลือกแบบที่มันไม่ปรุงรส หรือปรุงแต่น้อย ทางที่ดีคือทำเป็นอาหารให้เขา ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพลูก ที่ผมอยากฝากก็คือ ในกรณีที่เขาอยากกินสาหร่ายปรุงรสโดยกินแบบขนมขบเคี้ยวคือกินเปล่าๆ แล้วเราตามใจให้เขากินอย่างที่เขาอยากกินวันนี้ ผลเสียมันไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันจะสะสมอยู่ในร่างกายเขา นานวันเข้ามันจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพเขา เท่ากับเราทำลายอนาคตทางสุขภาพของเขา” คณบดีคณะสหเวชฯ ทิ้งท้าย