ชินวรณ์” สั่งทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ก่อนให้หนังสือเรียน ม.ปลาย –เด็กอาชีวะ พร้อมรณรงค์ขอหนังสือเรียนคืน ช่วยรัฐบาลประหยัด 3 พันล้านค่าหนังสือเรียน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุม 5 องค์กรหลักว่า ตนได้นำประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มาแจ้งต่อที่ประชุมองค์กรหลัก เพื่อให้แต่ละองค์กรได้เตรียมการขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ 8 ด้าน และบูรณาการให้เป็นไปตามเป้าหมายปฏิรูปการศึกษา
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ ปี 2553 ตามงบประมาณไทยเข้มแข็ง หรืองบ SP2 ซึ่งตั้งงบประมาณ 1,408 ล้านบาท โดยจะจัดอบรมครูทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ประเมินสมรรถนะ การอบรมครูเป็นมาสเตอร์ทีชเชอร์ จะมีเป้าหมายอบรมผู้บริหาร 39,898 คน ครูกว่า 400,000 คน โดยเราจะพัฒนาคุณภาพเป็นรายบุคคล อย่างไรก็ตามตนฝากข้อสังเกตว่าให้ดูครูของสำนักงานการศึกษาเอกชน และครูขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนศูนย์ประดิษฐ์และพัฒนาครูของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ ) มีจำนวน 15 ศูนย์ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการทำเป็นเครื่อข่าย แล้วจะผลักดันเรื่องประดิษฐ์และพัฒนาครูต่อไปด้วย
ส่วนเรื่องเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ประชุมมอบหมายให้ไปทำหนังสือยืมเรียนทั้งระบบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกศน. พร้อมกันนี้ให้ไปรณรงค์การเรียนฟรีของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นว่าโครงการเรียนฟรีไม่ใช่โครงการประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการของรัฐบาล โดยการนำของนายกฯอภิสิทธิ์ ที่ต้องการเห็นการพัฒนาคนของเราให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทุกด้าน และให้การพัฒนาการศึกษาเป็นธงนำ
ทั้งนี้ นายกฯอภิสิทธิ์ มีนโยบายให้มีหนังสือเรียนฟรีให้เด็กอาชีวะ และเด็ก ม.ปลายทั้งหมด เพราะมีการร้องขอมาจากนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เด็กในช่วงนี้ต้องใช้หนังสือเรียนในการสอบเรียนต่อ ในระดับประถมศึกษา ยังให้คงโครงการยืมเรียนเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ตนให้องค์กรหลักที่รับผิดชอบอาชีวะ และ ม. ปลาย ไปรณรงค์นักเรียนที่รักษาหนังสือเรียน เพื่อนำกลับมาไว้ที่โครงการหนังสือยืมเรียน เพื่อลดต้นทุนของภาครัฐในอนาคตด้วย โดยค่าหนังสือเรียนในชั้น ม.ปลาย สังกัด สพฐ. ประมาณ 897 ล้านบาท สังกัด สช. ประมาณ 400 ล้านบาท สังกัด สอศ. 1,200 ล้านบาท และสังกัด เอกชน 500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจึงมีมติให้ใช้หลักการร่วมมือของภาคี 4 ฝ่ายในการตัดสินใจเรื่องนี้ และมีมติให้ทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะดำเนินการยกเลิกหนังสือยืมเรียน ม.ปลาย และอาชีวะ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อสอบถามความเห็นของผู้ปกครองและคณะครู
“เราให้ไปทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะยกเลิก ให้ไปถามความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง หากจำเป็นต้องใช้หนังสือในการเรียนต่อ ซึ่งมีเด็กบางคนรักษาหนังสือเป็นอย่างดี และเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล อยากให้เด็กใช้สอบเสร็จแล้วนำมาบริจาคให้รุ่นน้องได้ใช้ยืมเรียนต่อไป” นายชินวรณ์ กล่าว