สำรวจพบวัยรุ่น 1 ใน 2 เสี่ยงมีเซ็กส์กับแฟนวันวาเลนไทน์ สะกิดพ่อแม่ทันภัยออนไลน์หลังพบพ่อแม่ 1 ใน 4 เข้าใจไอทีน้อย แต่ 66% นิยมซื้อมือถือ คอมพิวเตอร์ให้ลูกแต่ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการรับข้อมูลทางไอทีของลูกหลาน พร้อมเปิดบริการ “ห้องครองใจ” เป็นช่องทางปรึกษาให้ครอบครัว
วันนี้ (11ก.พ.) ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ฉลาดรักยกกำลังสาม รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้” เพื่อป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ ว่า โครงการนี้หวังกระตุ้นให้วัยรุ่น ครอบครัว และสังคม มีความไหวทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆที่อาจนำไปสู่ภัยทางเพศ และให้ครอบครัวมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่นในเทศกาลวัน วาเลนไทน์ โดยรู้ใจหมายถึง การรู้ใจตนเองจากการทบทวนอารมณ์ ความคิดของตนเองที่อาจมีอิทธิพลต่อการเกิดความเสี่ยงทางเพศ ไหวทันหมายถึง การไหวทันต่อสถานการณ์เสี่ยง ไหวทันต่ออิทธิพลของสื่อไอที และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้อื่น ป้องกันได้หมายถึง การพัฒนาวัยรุ่นให้มีทักษะชีวิต ในการปฏิเสธและป้องกันตนเองจากภัยทางเพศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวให้ป้องกันเยาวชนจากภัยทางเพศได้
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สำรวจ “วัยรุ่นไทย : สื่อรักวาเลนไทน์ 2010” ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเก็บข้อมูลวัยรุ่นระดับมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัย จำนวน 1,320 คน และพ่อแม่/ ผู้ปกครองที่มีลูกกำลังเรียนในมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวน 583 คน ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2553 – 1 กุมภาพันธ์ 2553 ผลการสำรวจพบว่า วัยรุ่น 1ใน 2 หรือร้อยละ 47 มีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์ หากแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยกลุ่มเสี่ยงเป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ในกลุ่มของพ่อแม่/ผู้ปกครอง พบว่า 1 ใน 4 คน หรือร้อยละ29 มีความรู้ความเข้าในการใช้ไอทีน้อยถึงน้อยที่สุด แต่ก็นิยมซื้อไอทีให้ลูกหลาน โดยซื้อโทรศัพท์มือถือ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 89 อันดับสอง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ร้อยละ 32 และอันดับสาม เครื่องเล่นวิดีโอเกม ร้อยละ 34 แต่ปัญหาที่พบคือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 คน หรือร้อยละ 66 ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการรับข้อมูลในไอทีของลูกหลาน และร้อยละ 44 ไม่มีการควบคุมการใช้สื่อไอทีของลูกหลาน ซึ่งมีผลให้พ่อแม่/ผู้ปกครองร้อยละ 67 มีความกังวลต่อการเข้าถึงเนื้อหาทางเพศของลูกหลาน พ่อแม่/ผู้ปกครองร้อยละ 73 มองว่าวัยรุ่นไทยมีการแสดงออกในวันวาเลนไทน์ไม่เหมาะสม และร้อยละ 48 ห่วงวัยรุ่นยังมีความเสี่ยงทางเพศในเทศกาลวาเลนไทน์ จากการเห็นภาพโป๊เปลือย
“ผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไหวทันและมีแนวทางการป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ โดยการสร้างพลังแก่ครอบครัวให้ไหวทันและป้องกันภัยทางเพศแก่ลูกได้ กรมสุขภาพจิตจึงได้เปิดห้องครองใจ ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ โดยมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ให้บริการปรึกษาครอบครัว เป็นช่องทางบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น”นพ.ชาตรีกล่าว
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ผลการให้บริการของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ผู้รับบริการกว่าร้อยละ 90 ได้รับบริการปรึกษาครอบครัว โดยร้อยละ 60 เป็นครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น และรับบริการเฉลี่ยครอบครัวละ 1-2 ครั้ง ปัญหา 5 อันดับแรกที่พบมากได้แก่ 1. พ่อแม่ขาดทักษะดูแลลูก 2. มีความขัดแย้งกับลูกเนื่องจากลูกมีปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ 3. การปรับตัวของลูก 4. พ่อแม่ขัดแย้งกันในการเลี้ยงดูลูก และ5. พ่อแม่ขัดแย้งกัน ขาดความเข้าใจกันหากครอบครัวเริ่มรู้สึกมีความยุ่งยากในการเลี้ยงลูกวัยรุ่น สามารถมารับบริการได้แต่เนิ่นๆไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา