สพฐ.เดินหน้าประเมินสมรรถนะครูรายบุคคลทั้งระบบ เน้นจัดกิจกรรมการเรียนการสอน คาดเริ่ม มี.ค.นี้ เล็งใช้ผล ประเมินปรับเลื่อนวิทยฐานะได้
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ โดยในการยกระดับคุณภาพครูฯ จะเริ่มจากการประเมินสมรรถนะครูเป็นรายบุคคล เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลครูรายบุคคลตามระดับสมรรถนะ ซึ่งในการประเมินสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก เป็นสมรรถนะเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่ครูสอน ส่วนที่สองจะแยกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ สมรรถนะหลัก ซึ่งเป็นสมรรถนะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะต้องรู้ในการดำเนินการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และสมรรถนะประจำสายงาน ที่เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ซึ่งในการประเมินสมรรถนะนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะดำเนินการบางส่วน และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบางส่วน เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) จัดทำการประเมินสมรรถนะด้านเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ.จะดำเนินการประเมินสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาในช่วงเดือนมี.ค.นี้
ดร.ชินภัทร กล่าวต่อว่า ในการประเมินสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นรายบุคคลครั้งนี้ ครูไม่จำเป็นต้องไปติว เพราะไม่มีผลต่อการเลื่อนวิทยฐานะ แต่จะนำผลมาใช้เพื่อพัฒนาเท่านั้น ทั้งนี้ในอนาคต สพฐ.จะพยายามให้การประเมินสมรรถนะครู ส่งผลต่อการประเมินวิทยฐานะด้วย เพราะครูจะต้องมีความเชี่ยวชาญหรือรอบรู้ในวิชาที่สอน ซึ่งในหลักเกณฑ์วิธีให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว 17 ที่ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2552 นั้นก็ได้เปิดช่องทางไว้ว่า การประเมินด้านความรู้ ความสามารถของครูฯ จะมีการพิจารณาผลของการประเมินสมรรถนะหรือการอบรมในหลักสูตรที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้การรับรองด้วย
“เมื่อระบบการประเมินสมรรถนะครูฯ เดินหน้ามากขึ้นก็จะมีหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.ให้การรับรอง และหากครูคนใดผ่านการอบรมก็จะถือเป็นเครดิตประกอบการเลื่อนวิทยฐานะ หรือผ่านการประเมินสมรรถนะจากสถาบันที่ ก.ค.ศ.ให้การรับรอง เช่น สสวท.ที่มีการประเมินสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็จะใช้เป็นส่วนประกอบในการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งผลการประเมินสมรรถนะของครูฯ จะเป็นเครื่องยืนยันในความรู้ ความสามารถของครู และให้คณะกรรมการที่ประเมินวิทยฐานะมีหลักการประกอบการพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น” เลขาฯ กพฐ.กล่าว