แพทย์ชนบท ออกโรงค้าน มศว อีกรอบ หลังหลักสูตรผ่านเป็นอิงลิชโปรแกรม เบรกแนวคิดกลัวมหาวิทยาลัยสร้างประโยชน์มากกว่าเห็นแก่สังคม คณบดี มศว ยันไม่เคยขู่ใคร เดินหน้าต่อ ติงอย่าคิดแค่เด็กรวยแล้วต้องเห็นแก่ตัว มุ่งทำเพื่อประโยชน์สังคมเช่นกัน
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กล่าวว่า จากกรณีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขออนุมัติในการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ แต่มีกระแสกดดันจนต้องเปลี่ยนเป็นหลักสูตรโปรแกรมภาษาอังกฤษนั้น พบว่ามีแรงกดดันอาจารย์ 6 คนที่ออกมาต่อต้าน ชมรมแพทย์ชนบทจึงได้มีการออกแถลงการณ์ว่า การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์โปรแกรมภาษาอังกฤษดังกล่าว มีความรีบเร่งในการอนุมัติหลักสูตรโดยขาดความรอบคอบและขาดการตรวจสอบจากสาธารณะถึงข้อดีข้อเสียอย่างถี่ถ้วน การผลิตแพทย์เพื่อตอบสนองการแพทย์พานิชย์นั้นจะส่งผลในเชิงลบต่อระบบการกระจายแพทย์ในระยะยาว และการอนุมัติในครั้งนี้จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยอื่นๆเอาเป็นแบบอย่างได้ จนเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง
“ต่อไปในอนาคตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของรัฐอาจสนใจผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษมากกว่าหลักสูตรปกติก็เป็นได้ เพราะมีผลประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยมากกว่าหลักสูตรการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนค่าเทอมเพียงปีละ 3 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทขอชื่นชมอาจารย์ที่ออกมาคัดค้าน และขอเชิญอาจารย์และศิษย์เก่าของ มศว คัดค้านการมุ่งประโยชน์เฉพาะคนส่วนน้อยครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยด้วย”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทบทวนการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้ และขอให้แพทยสภายุติการอนุมัติหลักสูตรดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในระยะยาว และฝากคำถามไปยังแพทยสภา ว่ามีแนวทางอย่างไรในการแก้ปัญหาสมองไหลจากชนบทสู่เมือง รวมทั้งการแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในชนบท ซึ่งน่าจะเป็นภารกิจของแพทยสภามากกว่าการผลิตแพทย์เพื่อตอบสนองแพทย์พานิชย์
ด้าน นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่ามีการข่มขู่แพทย์ในคณะแพทย์ศาสตร์ มศว ว่า เป็นความเข้าใจผิดอยากให้รับฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย เพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าคณะแพทย์เสียหายอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่จะมีการอนุมัติหลักสูตรมีการทำประชาพิจารณ์ถึง 4 ครั้ง เป็นการพูดคุยหารือในคณะเป็นที่เข้าใจ ซึ่งสุดท้ายแพทยสภาก็ลงความเห็นว่า เหตุผลในการตั้งหลักสูตรนานาชาติยังไม่ตอบโจทย์สังคมได้ทั้งหมดรวมถึงมีกระแสคัดค้าน ซึ่งทางคณะก็ยอมรับแต่ทางแพทย์บางคนกลับให้สัมภาษณ์ในทางเสียหาย ทำให้แพทย์บางคนในคณะเกิดความไม่พอใจและมีการสอบถามไปยังแพทยสภา แต่ยืนยันว่าไม่มีการข่มขู่แต่อย่างใด
“หลักสูตรที่พัฒนาขึ้น มีความตั้งใจให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อรองรับการเข้าเป็นสมาคมอาเซียนในอนาคต และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นการจ่ายเพิ่มของนักศึกษา แต่ได้กำหนดให้มีการใช้ทุนรัฐบาล เพื่อเป็นการทำประโยชน์ให้สังคม ไม่อยากให้คิดว่าคนรวยกว่ามีโอกาสดีกว่าแล้วต้องเห็นแก่ตัวเสมอไป เพราะหลักสูตรการศึกษาตั้งใจผลิตบัณฑิตที่ดีและรับใช้สังคมอยู่แล้ว โดย มศว ไม่ใช่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่คิดจะทำหลักสูตรนี้ เพียงแต่เป็นแห่งแรกเท่านั้น ซึ่งคงไม่มีการทบทวนหลักสูตรแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังต้องรอการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยต่อไป” นพ.สมเกียรติ กล่าว