กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ หนุนหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ระบุได้มากกว่าเสีย ไม่กระทบปัญหาแพทย์ขาแคลนคาดไม่เกิน 5 ปี เกิดแน่ ชี้ไทยต้องก้าวสู่ระดับอินเตอร์ เป็นฝ่ายรุก ไม่ใช่แค่ตั้งรับอย่างเดียว
ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า หากมองด้วยความเป็นกลาง หลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ เป็นก้าวใหม่ที่จะช่วยให้โรงเรียนแพทย์ หรือคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก้าวไปข้างหน้า เพราะการเรียนการสอนจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างชาติต่างๆ แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่จะต้องมองหลายๆ มุม หลายๆ ด้าน อย่ามองด้านเดียว ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ จะมีประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่าเสียประโยชน์อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้คาดว่ามีมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ซึ่งต่างรอดูโอกาสในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม และน่าจะเกิดหลักสูตรนานาชาติ ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี
“ความเห็นส่วนตัวมองว่า อนาคตประเทศไทยคงหนีไม่พ้นการก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ แต่หากไม่เริ่มหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ก็เท่ากับไทยจะเป็นเพียงฝ่ายตั้งรับ ยังไม่รุก หนทางก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่มี แต่หากจะทำหลักสูตรนานาชาติ ก็จะต้องทำให้ดีกว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์เดิมที่มีอยู่เพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศไทย รวมถึงต้องมีความพร้อมจริงๆ เท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ไม่เช่นนั้นก็จะลำบากมาก” ศ.นพ.อาวุธกล่าว
ศ.นพ.อาวุธ กล่าวอีกว่า การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ คงไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตแพทย์เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนแพทย์ที่จะผลิตแต่เป็นการเพิ่มแพทย์และช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลดีขึ้นด้วย
“การที่มีบางกลุ่มออกมาคัดค้านอาจเนื่องจากอาจยังให้ความรู้ ข้อมูลกับสังคมไม่เพียงพอทำให้มองอย่างแคบๆ ในประเทศเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วการเปิดหลักสูตรนานาชาตินั้นได้มากกว่าเสีย เป็นการเชื่อมโยงความรู้จากทั่วโลก วิชาการแพทย์ก็จะก้าวหน้า แทนที่จะอยู่เฉพาะเมืองไทย อย่ามองว่านานาชาติ จะมีแต่ตะวันตกเท่านั้น อินเตอร์หมายถึงทั้งโลก ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่มีเปิดหลักสูตรนานาชาติ หากมีนักศึกษาเข้าไปเรียนกันมากๆ จะเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งที่แสดงว่ามีความก้าวหน้า”ศ.นพ.อาวุธ กล่าว