เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจคนกรุงเทพฯ กว่าครึ่งระบุสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงที่สุด โดยกว่า 1 ใน 3 เคยมีประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ และร้อยละ 75 ระบุในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นการรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจเรื่อง “การรับรู้ของสาธารณชนต่อสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยในยุคนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม.มาจากพรรคเดียวกัน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,686 ตัวอย่าง ในวันที่ 22-23 มกราคม 2553 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ระบุสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงที่สุด ร้อยละ 32.1 ระบุค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 67.0 รับรู้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์ โดยจำนวนมากหรือร้อยละ 38.4 เคยเจอด้วยตัวเอง และในกลุ่มที่เจอด้วยตัวเองนี้ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 70.0 เคยต้องจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำทรัพย์สินของราชการไปใช้ส่วนตัว โดยในกลุ่มนี้เกินกว่า 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.2 ที่เจอด้วยตนเอง
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของราชการไปเป็นของตนเอง โดย 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20.2 เคยเจอด้วยตนเอง เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.2 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐมีการฮั้วประมูลงานราชการ โดยร้อยละ 13.3 เคยเจอด้วยตนเอง และในกลุ่มที่เจอด้วยตนเองร้อยละ 44.4 ที่เคยต้องจ่ายด้วยตนเอง ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.7 รับรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการบริการช่วยเหลือประชาชน เช่น ไม่รับแจ้งความ ไม่จดทำทะเบียนให้ เป็นต้น โดยเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.0 ที่เจอปัญหานี้ด้วยตนเอง และร้อยละ 54.8 ในกลุ่มนี้เคยต้องจ่ายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบริการช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 80.0 ระบุว่า รับรู้น้อยถึงไม่มีส่วนรับรู้เลย เกี่ยวกับข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่ ร้อยละ 75.7 ระบุเคยได้เห็นหรือได้ยินน้อยถึงไม่เคยเลย เกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติราชการในพื้นที่ที่พักอาศัยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 80.6 รับรู้น้อยถึงไม่ทราบเลยเกี่ยวกับช่องทางการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ที่พักอาศัย และร้อยละ 58.7 ระบุระดับความโปร่งใสมีน้อยถึงไม่มีเลยในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ เมื่อสอบถามถึงประเด็นในการปฏิวัติ พบว่า ร้อยละ 94.6 ระบุไม่เห็นด้วยที่จะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ร้อยละ 5.4 ระบุเห็นด้วยที่จะมีการปฏิวัติ