xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “เมล็ดละหุ่งแดง” มีพิษ ทำปากบวม อาเจียน รุนแรงอาจถึงตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละหุ่งแดง ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.ออกโรงเตือนประชาชนระวังลูกหลานกิน “เมล็ดละหุ่งแดง” หรือเมล็ดฝิ่นต้น เหตุมีสารพิษ แคลเซียมออกซาเลต ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ปากบวมพอง พูดไม่ชัด รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต เผยปีนี้พบเด็กนักเรียนที่ จ.น่าน ได้รับพิษแล้ว 13 ราย แนะโดนพิษอาการไม่รุนแรงให้ดื่มนม เพื่อลดการดูดซึมสารพิษก่อนส่งถึงมือหมอ

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กๆ ได้รับพิษจากการกินเมล็ดพืชอยู่เป็นประจำ ซึ่งในปี 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานว่ามีเด็กนักเรียนชั้นป.1 และ ป.2 ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน อายุ 6-8 ปี ได้รับพิษจากการการกินเมล็ดละหุ่งแดงหรือเมล็ดฝิ่นต้น ซึ่งปลูกในโรงเรียน จากการสอบสวนโรคพบว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2552 เด็กนักเรียนดังกล่าวเก็บเมล็ดละหุ่งแดงมากินทั้งหมด 16 คน คนละ 1-5 เมล็ด ในช่วงพักกลางวัน หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง 13 คน ครูได้นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลปัว หลังรักษาอาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้าน 4 ราย ที่เหลือ 9 ราย รับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาล ไม่มีเสียชีวิต


นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ละหุ่งแดง หรือฝิ่นต้น (CORAL BUSH,CORAL PLANT) ที่นักเรียนกินครั้งนี้ มีชื่อทั่วไปว่ามะละกอฝรั่ง เป็นไม้พุ่มลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ลำต้นคล้ายต้นมะละกอ แต่ขนาดเล็กกว่า ใบมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายใบมะละกอ กลีบดอกสีแดง ออกเป็นช่อแบนแน่นติดกัน ผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู ผิวเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่มีสีออกเหลือง ชาวบ้านตามชนบท มักปลูกไว้เป็นยาสมุนไพร ส่วนที่กินได้คือเปลือกของลำต้น มีรสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้อาเจียน แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามข้อ ในส่วนของเมล็ดนั้นเป็นอันตราย กินไม่ได้ เนื่องจากในเมล็ดมีสารพิษชื่อ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน คัน ปวดแสบปวดร้อน ปากบวมพอง น้ำลายไหล ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ชัด หากกินในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้

“หากโรงเรียนต่างๆ จะปลูกไว้เพื่อให้เด็กนักเรียนศึกษาและรู้จักพืชพรรณสมุนไพร นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเพิ่มการติดป้ายถาวรที่ต้นสมุนไพร เพื่อให้ข้อมูลสรรพคุณสมุนไพร ส่วนที่กินได้ และส่วนที่เป็นอันตราย เพื่อให้นักเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยป้องกันอันตรายได้ ทั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ได้รับพิษจากเมล็ดละหุ่งแดง หากอาการไม่รุนแรง ผู้ได้รับพิษรู้สึกตัว ในเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล ควรให้ผู้ได้รับพิษดื่มนม เพื่อช่วยลดการดูดซึมพิษในกระเพาะอาหาร แต่หากอาการรุนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้องทันที” โฆษก สธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น