xs
xsm
sm
md
lg

“หมออรพรรณ์” ร่อนหนังสือถึง “อภิสิทธิ์” สอบทีมSp2 “หมอบรรลุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บรรลุ ศิริพาณิชย์
“หมออรพรรณ์” ร่อนหนังสือถึง “อภิสิทธิ์” สอบ “หมอบรรลุ – หมอวิชัย –หมอเกรียง-หมอพงศ์เทพ” ชี้ผลตรวจสอบไทยเข้มแข็งไม่เป็นธรรม กระทรวงเสียหาย ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน จวก “หมอบรรลุ” – “หมอวิชัย” ถูกสร้างภาพเป็นข้าราชการตงฉิน แต่ไม่มีหลักการสอบสวน ด้าน "หมอเกรียง" เซ็งพวกใช้มุกเก่าเบี่ยงประเด็น รอเวลา-ความจริงเป็นข้อพิสูจน์ ใบปลิวว่อนโจมตีกลุ่มแพทยชนบท


วันนี้ (13 ม.ค.) พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ผู้ประสานงานคณะแพทย์และบุคคลเพื่อความถูกต้องกรณีกล่าวหากระทรวงสาธารณสุขทุจริตงบไทยเข้มแข็ง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบ นพ.บรรลุ ศิริพาณิชย์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะกรรมการสอบสวนโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ในกรณีปกปิดความไม่เป็นกลางของประธานและเลขาฯ คณะกรรมการสอบสวน และขอให้ตรวจสอบวิธีการ ข้อสรุป ไม่ถูกต้องตามหลักการสอบสวน จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหายและสังคมได้รับข่าวสารไม่ถูกต้อง โดยพญ.อรพรรณ์ ได้แฟ็กซ์หนังสือดังกล่าวถึง นายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนายกฯไม่ดำเนินการตรวจสอบ ก็จะต่อสู้ให้ถึงที่สุดและฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายกับนายกฯ ด้วย

พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า คณะแพทย์และบุคคลเพื่อความถูกต้องฯ เป็นการรวมตัวกันของแพทย์ และบุคคลที่ปฏิบัติงาน และเกี่ยวข้องกับบริการการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่ใช่ผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน หรือผู้บริหารหน่วยงานใดของกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันศึกษาถึงผลการตรวจสอบงบไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน พบว่า ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบขาดความเป็นกลาง เป็นเอ็นจีโอสาธารณสุข โดยผู้กล่าวหา 2 คน เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลในระดับอำเภอ และมีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารงบไทยเข้มแข็ง เรียกตนเองว่าแพทย์ชนบท มีฐานกิจกรรม โครงการ ในกลุ่มเดียวกับนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ และนพ.บรรลุ ซึ่งผิดหลักการของการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และทั้งผู้ร้อง และกรรมการทั้งสองคนร่วมกันปกปิดนายกรัฐมนตรี

พญ.อรพรรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ของนพ.บรรลุ มีวิธีการสอบและดำเนินที่ไม่ได้มาตรฐานของการตรวจสอบและการรายงานข้อเท็จจริง เมื่อสอบแล้วไม่พบว่าทุจริต ต้องสรุปว่าไม่พบการทุจริต แต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กลับสรุปความเห็นว่า พบมีพฤติการณ์ส่อในทางทุจริต นอกจากนี้แถลงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เป็นเพียงผลเบื้องต้นที่ยังไม่แน่ชัด ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ถูกสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน นพ.บรรลุ นพ.วิชัย มีเจตนาพิเศษกับกลุ่มของตัวเองหรือไม่ เพราะบุคคลที่ถูกอ้างถึงตามผลสอบอาจจะมี หรือไม่มี ความผิดก็ได้

“ตามหลักการแล้วจะต้องรายงานเป็นความลับต่อผู้ที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ไม่ใช่ออกมาแถลงข่าวสรุปผลพาดพิงบุคคลจำนวนมากให้เสียหาย หรือทั้งสองท่านจงใจให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้ที่ร้องเรียนที่เรียกตนเองว่าแพทย์ชนบท ต้องการให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ.พักราชการ และเปลี่ยนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษาระดับ 11 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ทั้งนี้ตนได้ส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำรายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบแล้ว”พญ.อรพรรณ์ กล่าว

พญ.อรพรรณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากได้ติดตามข้อมูลและการตรวจสอบของโครงการไทยเข้มแข็ง พบความผิดปกติและตัดสินใจว่าจะต้องดำเนินการบางอย่าง เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและความสง่างามของวิชาชีพแพทย์ไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยเชื่อว่า นายกฯ จะไม่ปฏิเสธการตรวจสอบขั้นตอนการสอบสวน ข้อเท็จจริง และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดมิติใหม่ของการบริหารงาน โดยไม่มีแพทย์กลุ่มดังกล่าวคอยปั่นหัวประชาชนอีกต่อไป และขอให้มีการตรวจสอบย้อนไปถึงการสอบสวนการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ ของแพทย์กลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งการทำงานของแพทย์กลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด เชื่อว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 70 เห็นด้วยว่า ผลการตรวจสอบที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม

“นพ.บรรลุ ถูกสร้างภาพให้เป็นมือปราบทุจริตเป็น ข้าราชการตงฉิน แต่ความจริงการติดตามวิธีการสอบสวนมาตั้งแต่สมัยการสอบสวนการทุจริตยา 1,400 ล้าน พบว่า นพ.บรรลุ ไม่มีความสามารถในเชิงการตรวจสอบข้อเท็จจริงแม้แต่น้อย เพราะเอาข้อมูลจากการสำรวจและการสอบถามบุคคลต่างๆ มาบวกรวมกันเป็นข้อมูล ซึ่งไม่ใช่วิธีการตรวจสอบและสอบสวนที่แท้จริง ซึ่งต้องได้ข้อมูลที่เป็นจริง ส่วนนพ.วิชัย เป็นคนเก่งแต่จากการทำงานร่วมกันมานาน ส่วนตัวเห็นว่านพ.วิชัย ควรต้องปรับปรุงอีกมากเพราะไม่มีความเชื่อถือทางสังคม โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา ที่นพ.วิชัย เคยให้มีการเลื่อนเวลาการลงคะแนนเพื่อประโยชน์กับตัวเอง”พญ.อรพรรณ์ กล่าว

ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการตรวจสอบการทุจริต มักจะมีการตั้งข้อสงสัยและเบี่ยงประเด็นในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้นเวลาและความจริงจะเป็นข้อพิสูจน์ ส่วนกรณีความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการฯ และแพทย์ชนบทที่รู้จักสนิทสนมกันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด ยกตัวอย่างกรณีที่ ก่อนหน้านี้มีบางกลุ่มกล่าวหาว่า ตนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ.และออกมาปกป้องแต่สุดท้ายข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ก็ออกมาระบุชัดเจนว่า นพ.ปราชญ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่อาจจะมีพฤติกรรมส่อทุจริต

“คณะกรรมการฯ ชุดนี้เป็นชุดที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่แพทย์ชนบทแต่งตั้ง ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ คงไม่สามารถบังคับให้พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ เห็นชอบได้ แต่ก็เข้าใจว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะออกมาตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการฯ หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ เป็นเพียงการชี้มูลเบื้องต้น ไม่ได้ชี้ผิดหรือถูก ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป ซึ่งผลอาจจะออกมาในลักษณะที่ ผู้ถูกพาดพิงอาจไม่มีความผิด เบากว่าเดิม เท่าเดิม หรือมากกว่าที่คณะกรรมการฯสรุป รวมถึงอาจมีตัวละครอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นก็เป็นได้”นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน วันนี้ (13 ม.ค.)ได้มีการแจกใบปลิว เรื่อง กระทรวงสาธารณสุขกับปัญหาคอรัปชั่น ใครมีคำตอบ โดยอ้างตัวเป็น “คนสาสุข” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า หลังจากนพ.บรรลุ เสร็จภารกิจสอบสวนโครงการไทยเข้มแข็งของสธ.แล้ว อยากเรียกร้องให้ตรวจสอบอีก 4 เรื่อง คือ 1.การอนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โดยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ.เป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่

2.เรื่องการจัดซื้อหุ่นฝึกสอนการช่วยชีวิตของศูนย์นเรนทร เมื่อประมาณปี 2540 ซึ่งคนนามสกุลเดียวกับท่าน เป็นประธานดำเนินการจัดซื้อนอกจากหุ่นที่ซื้อมาไม่มีมาตรฐานแล้ว กรรมการยังไม่ได้ตรวจรับ แต่มีการรับและชำระเงินให้ผู้ขายได้อย่างไร นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการล็อคสเปคเครื่องช่วยหายใจให้บริษัทผู้ขายรายหนึ่งด้วย
 
 3.เรื่องการทุจริตค่าน้ำมันรถยนต์และค่าผ่านทางด่วนของนายแพทย์ อักษรย่อ “ว”สมัยรับราชการ ซึ่งมีการส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆออกมา และ4.กรณีนพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม(อภ.)และเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่ทั้งสององค์กรเป็นคู่ค้ากัน กรณีนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น