xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ขอคืนส่วนต่อขยายสายสีเขียว ย้ำไม่หวงแต่ทำเพื่อประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุขุมพันธุ์” ยก 5 เหตุผลขอคืนสายสีเขียวจากรัฐบาล ย้ำชัดไม่ได้หวงของแต่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชี้ให้ รฟม.สร้างทำประชาชนลำบากเดินทางไกล จ่ายค่าโดยสารแพง ไม่ต้องเวนคืนที่คนกรุง ขณะที่กระทรวงคมนาคมภาระล้นมือแก้ปัญหาเก่าไม่ทัน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตนยืนยันที่รัฐบาลจะต้องคืนส่วนต่อขยายสายทีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และ แบริ่ง-สมุทรปราการ มาให้กทม.รับผิดชอบโครงการตามเดิมหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบซึ่งเจตนาของกทม.ที่ต้องการส่วนต่อขยายสายนี้กลับคืนนั้นไม่ได้เป็นการหวงของแต่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์พี่น้องของชาว กทม.ทุกคน โดยมีเหตุผลสำคัญ 5 ประการคือ ประการแรก หากให้ผู้อื่นทำกทม.จะต้องระมัดระวังมาตรการฐานของการออกแบบก่อสร้าง การตรวจรับงาน เพราะเมื่อ รฟม.เป็นผู้ก่อสร้างแล้วโอนมาให้ กทม.บริหารจัดการหลังแล้วเสร็จซึ่งเมื่อใช้มาสักระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5-10 ปี เกิดอุบัติเหตุขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดังนั้น กทม.จะต้องเข้มงวดเรื่องก่อสร้าง การออกแบบตลอดจนมาตรฐานการก่อสร้างเพราะอีก 10 ปีจะไม่มีใครจำได้ว่า รฟม.เป็นผู้ก่อสร้าง ฉะนั้นด้วยเหตุผลนี้ผู้ก่อสร้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ดูแลโครงการเอง

“กทม.ไม่เอาไม่ได้ ผมยืนยันมาโดยตลอดไม่ใช่เป็นเรื่องของการหวงของ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าคนอื่นทำเราจะต้องระมัดระวังมาตรฐานของการออกแบบการก่อสร้าง การตรวจรับงาน เพราะว่าถ้ารฟม.เป็นคนสร้างแล้วโอนมาให้เราอีก 5 หรือ 10 ข้างหน้าแล้วเกิดอุบัติเหตุใครจะรับผิดชอบ ดังนั้น กทม.ต้องเข้มงวดถ้าเขาจะสร้าง เรื่องการออกแบบ มาตรฐานในการก่อสร้างและตรวจรับงาน เพราะอีก 10 ปีต่อนี้ไปคนอาจจะจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนสร้าง เหมือนถนนศรีนครินทร์ที่กรมทางหลวงเป็นคนสร้าง พอฝนตกน้ำท่วมเพราะไม่มีท่อระบายน้ำแต่ทุกคนลืมและเข้าใจเป็น กทม.รับผิดชอบ เหมือนกันส่วนต่อขยายสายสีเขียวอีก 10 กว่าปีต่อจากนี้ไป คนจำไม่ได้แล้วถ้า รฟม.เป็นผู้สร้าง ถ้าเขาจะสร้างจริง สร้างแล้วให้ กทม.บริหารจัดการมันก็ประหลาด เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้ผู้ก่อสร้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ดูแลโครงการเอง”

ประการที่ 2 โครงสร้างของค่าโดยสารถ้า รฟม.เป็นผู้สร้างจะคิดส่วนแบ่งรายได้อย่างไร จะสร้างแล้วยกให้ กทม.โดยไม่คิดมูลค่าใช่หรือไม่ ประการที่ 3 กทม.ไม่มีทางรู้ว่าหาก รฟม.สร้างจะสามารถเชื่อมโยงกับระบบบีทีเอสเดิมได้ดีแค่ไหนเพราะเบื้องต้นทราบว่าสถานีของ รฟม.อยู่ที่หอวัง ดังนั้น ผู้ที่เดินทางจากสะพานใหม่มาหมอชิตต้องลงที่หอวังแล้วเดินประมาณ 300-500 เมตรเพื่อขึ้นรถที่ไฟฟ้าบีทีเอสต่อที่หมอชิตซึ่งนอกจากทำให้ไม่สะดวกแล้ว โครงสร้างของค่าโดยสารอาจจะแพงขึ้นก็ได้

ประการที่ 4 หากให้ กทม.เป็นผู้ก่อสร้างก็จะไม่มีการเวนคืนเพราะบีทีเอสมีพื้นที่พอที่จะทำเป็นโรงซ่อมแซมและอู่จอดรถ ดังนั้นจะไม่เป็นภาระต่อพี่น้องประชาชน

ประการที่ 5 ตนเป็นห่วงกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานทุกส่วนของคมนาคมเพราะขณะนี้มีปัญหาที่กระทรวงคมนาคมไม่สามารถสะสางได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นทำไมจึงต้องเอาภาระไปเพิ่มให้กับพวกเขา เช่น ปัญหาขสมก. รฟม. ที่ประสบภาวะขาดทุนทุกวัน อีกทั้งยังมีรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะก่อสร้างมูลค่านับแสนล้านบาท เพียงเท่านี้งานของคมนาคมก็เต็มมือแล้ว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า กทม.และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี สามารถร่วมมือกันทำได้ และสิ่งที่ครม.ชุดนั้นทำก็ขัดกับพรบ.การกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีใดที่ท้องถิ่นสามารถทำอะไรได้ดี ส่วนกลางไม่ควรจะเข้าไปมีบทบาท ดังนั้น ด้วยเหตุผลทุกประการควรจะคืนให้ กทม.มาดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากให้เฉพาะโครงสร้างมาจริงๆ ก็ต้องมาตกลงกันอีกที ว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้ กทม.บริหารจัดการแล้วเอาส่วนแบ่งรายได้ไป ซึ่งถ้าเอาไปจะทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเพราะว่ามันจะไปเชื่อมโยงกับบีทีเอสไม่ได้ถ้า รฟม.เป็นผู้ก่อสร้าง


ต่อข้อถามที่ว่า หาก กทม.ได้บีทีเอสส่วนต่อขยายดังกล่าวคืนมาจริงจะมอบสัมปทานให้บีทีเอสซีหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ถ้า กทม.ได้มาจะทำยังไงก็ได้แต่ กทม.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเพราะในอนาคตหากเกิดอะไรขึ้น กทม.จะได้เป็นผู้รับผิดชอบ เช่น อาจขยายสัมปทานให้บีทีเอสซีเข้ามาลงทุนโดย กทม.ควบคุมดูแล หากมีการต่อขยาย กทม.ก็อยู่ในฐานะที่พูดกับบีทีเอสซีได้ที่สุด หรือ กทม.อาจก่อสร้างเองแล้วแบ่งส่วนแบ่งรายได้แบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2.2 กิโลเมตร กับบีทีเอสซี ดังนั้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ครม.ต้องทบทวนมติและคืนให้กทม.ตามเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น