“ชวรัตน์” สั่งปลั กำชับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จัดงานกาชาด ปลอดเหล้า-ปลอดโฆษณา ลั่นกาชาดช่วยชีวิต แต่เหล้าทำลายชีวิต อย่ามาเหมาในงานเดียวกัน วอนทุกฝ่ายช่วยสอดส่อง ขณะที่ “เครือข่ายงดเหล้า” ชี้ยังมีผู้ว่าฯ บางจังหวัดแหกคอก เห็นแก่เงิน เทียบกับความสูญเสียไม่ได้ ระบุน้ำเมาทำให้เสียเลือดทั้งที่การรับบริจาคเลือดแต่ละครั้งยากลำบาก
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ในฐานะผู้ช่วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน จ.น่าน ยื่นหนังสือให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการให้การจัดงานกาชาดในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากยังมีอีกหลายจังหวัดที่เตรียมจัดงานกาชาด ว่าได้สั่งการให้ นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้กำชับดูแลการจัดงานกาชาดไม่อนุญาตให้มีการวางจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมไปถึงการโฆษณา โดยให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ สถานที่ราชการ ซึ่งจะผิดกฎหมายมาตรา 27, 31 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีมีการโฆษณาแฝงจริงถือว่าจะมีความผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายชวรัตน์กล่าวว่า ตนได้กำชับกับปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ต้องดูแลทุกจังหวัดทั่วประเทศให้งานกาชาดเป็นงานที่ปลอดเหล้า เพราะคำว่ากาชาด คือสภากาชาดไทยที่เป็นหน่วยงานช่วยเหลือชีวิตคน แต่เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่ทำลายชีวิตคน จึงไม่ควรจะอยู่ในงานเดียวกัน เพราะไม่เหมาะสม และได้ทราบจากเลขาธิการแพทย์ชนบทว่า ยังมีบางจังหวัดที่ยังอนุญาตให้มีการขายเหล้าในงานกาชาดอยู่ ซึ่งถือว่าทำผิดกฎหมาย จึงอยากให้ทุกจังหวัดช่วยกันปฏิบัติตามกฎหมาย แม้อาจจะมีการลักลอบขาย ก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนโดยตรง ที่ผ่านมายอมรับว่าคนไทยยังมีนิสัยชอบดื่มเหล้า ชอบสังสรรค์ ที่เป็นปัญหาเพราะดื่มจนเมา ครองสติไม่อยู่ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเหล่านี้ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการรณรงค์ ให้คนไทยลดพฤติกรรมการดื่มเหล้าและพฤติกรรมดื่มไม่ขับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ด้วยความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด อาทิ ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สระบุรี ที่เห็นถึงความสำคัญต้องการลดความสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การจัดงานกาชาดปลอดเหล้า ไม่มีการขาย และดื่มในบริเวณงาน สามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการจัดงานกาชาดที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ไม่พบผู้เสียชีวิต มีเพียงเหตุทะเลาะวิวาท 8 ราย ซึ่งต่างจากปี 2551 ที่มีเหตุทะเลาะวิวาททั้งหมด 86 ราย เสียชีวิต 2 ราย เช่น เดียวกับจังหวัดสุรินทร์ที่ไม่พบผู้เสียชีวิตในงานกาชาด ต่างจากปี 51 ที่มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
“จากการรณรงค์ดังกล่าวยังมีบางจังหวัดเท่านั้นที่ผู้ว่าฯ ไม่เห็นถึงความสำคัญ อีกทั้งยังสนับสนุนให้ลานกาชาดกลายเป็นลานเบียร์โดยเห็นแก่เงินสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ซึ่งเทียบไม่ได้กับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น และอุบัติเหตุจากเหล้าทำให้ต้องเสียเลือดเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งๆ ที่การรับบริจาคเลือดแต่ละครั้งทางสภากาชาดต้องทำด้วยความยากลำบาก” นายสงกรานต์กล่าว