xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านหลังเรียน” แหล่งหย่อนใจกับชีวิตนอกตำรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มุมศิลปะสำหรับผู้ปกครองและเด็กๆ
“ผลวิจัยระบุมีเด็กร้อยละ10-15 ที่หลังเลิกเรียนแล้วต้องกลับบ้านอยู่คนเดียวเป็นประจำ”

จากการติดตาม สภาวการณ์เด็กและเยาวชนของจังหวัดเลย พบว่ามีเด็กร้อยละ 20 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และเยาวชนกลุ่มนี้หลังจากเลิกเรียนจะไปรวมกันอยู่ที่บ้านเพื่อนหรือหอพัก และใช้เวลาไปทำกิจกรรมหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงหลายๆ อย่างเช่นการดูสื่อลามก เล่นเกมส์ออนไลน์สูงถึงร้อยละ 25 และมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการทดลองใช้สารเสพติด ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อเด็กกลับบ้านแล้วไม่มีใครอยู่ด้วย หรืออยู่คนเดียวเป็นประจำจะทำให้ใช้เวลาไปในทางที่เสียงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

โครงการวิจัยการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) สถาบันรามจิตติ และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเลย จึงร่วมกันจัดทำ “โครงการบ้านหลังเรียนจังหวัดเลย” ขึ้นมาเพื่อเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ลดภาวะความเสี่ยงสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน โดยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
ดร.สมศักดิ์ สีดากุลฤทธิ์ หัวหน้าทีมนักวิจัย Child Watch จ.เลย
ดร.สมศักดิ์ สีดากุลฤทธิ์ หัวหน้าทีมนักวิจัย Child Watch จ.เลย เปิดเผยว่า พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายปัจจัย แต่หนึ่งในนั้นก็คือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในจังหวัดเลยซึ่งก็คือสถานศึกษาต่างๆ จะปิดหลังเวลาเลิกเรียน ในขณะเดียวกันการขยายตัวของร้านอินเตอร์เน็ตและร้านเกมส์มากขึ้น ทำให้ขาดพื้นที่สร้างสรรค์ในการใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน

“ทางนักวิจัยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการ“บ้านหลังเรียน เพื่อแย่งชิงพื้นที่ระหว่างพื้นที่เสี่ยงเพิ่มพื้นที่ดีสำหรับเด็ก เพราะบ้านหลังเรียนก็คือการมีพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะใช้เวลาว่างในการพัฒนาตนเองในด้านการเรียนรู้ การส่งเสริมสุขภาพ และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยใช้พื้นที่ของห้องสมุดประชาชนของจังหวัดเลยในการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะสร้างให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย เป็นสถานที่ๆปลอดภัย อบอุ่น และใช้เวลาว่างเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง และหลีกห่างจากยาเสพติดทุกชนิดได้” อ.สมศักดิ์กล่าว

นายดุลยนัย ยมคำ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอเมืองเลย กล่าวว่าโครงการนี้ประโยชน์กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก เพราะสามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองสนใจได้ทุกวันหลังจากที่เลิกเรียนแล้ว ซึ่งเป็นการบอกกันต่อแบบปากต่อปาก เด็กๆ จะชักชวนเพื่อนกันมาเอง
มุมเพนท์ผ้า
“เด็กส่วนหนึ่งจะมาพักผ่อน วาดรูป ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเพื่อรอผู้ปกครองมารับ ทำให้ผู้ปกครองเห็นประโยชน์ของโครงการนี้อย่างชัดเจน ในวันหยุดก็จะมาร่วมกิจกรรมพร้อมกับลูก ทำให้มีเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นายดุลยนัยระบุ

“บ้านหลังเรียนจังหวัดเลย” ตั้งอยู่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเลย โดยจะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ตั้งแต่เวลา 16.30-19.00 น. และในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. โดยจัดให้มีมุมให้บริการแก่เด็กและเยาวชนโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมมากมาย อาทิ มุมทำการบ้าน มุมรอผู้ปกครอง มุมสืบค้นอินเทอร์เน็ต มุมกิจกรรมต่างๆ มุมบันเทิงศึกษา มุมสื่อมัลติมีเดีย มุมหนังสือและวารสารฯลฯ และในวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ก็จะจัดให้มีกิจกรรมพิเศษเช่น การอบรมคอมพิวเตอร์ การประดิษฐ์งานศิลปะ วาดภาพระบายสี ร้อยลูกปัด หรือเรียนดนตรีจากรุ่นพี่ที่มาสอนน้อง นอกจากนี้ยังจัดให้มีกิจกรรมภายนอกอาคารที่เรียกว่ากิจกรรมกลางแจ้งหรือลานบ้านลานเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดมหกรรมวันวิทยาศาสตร์ มหกรรมบ้านหลังเรียนเรียนรู้เรื่องอาชีพฯลฯ
นางนงลักษณ์ พร้อมจะบก หรือ “พี่ป่อง” บรรณารักษ์ชำนาญการห้องสมุดประชาชน จ.เลย
นางนงลักษณ์ พร้อมจะบก หรือ “พี่ป่อง” บรรณารักษ์ชำนาญการห้องสมุดประชาชน จ.เลยเล่าถึงโครงการนี้ว่าได้นำงานของห้องสมุดคือการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองมาผสมผสานกับแนวคิดเรื่องบ้านหลังเรียน จึงเกิดเป็นกิจรรมต่างๆ มากมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขบนพื้นที่ๆ ปลอดภัย ซึ่งในวันธรรมดาจะมีเด็กๆมาใช้บริการประมาณ 20-40 คน ส่วนวันหยุดจะมากถึง 100 คน ซึ่งบางครั้งก็จะมากันเป็นครอบครัวทำให้มีบรรยากาศที่สนุกสนาน

“กิจกรรมทุกอย่างของที่นี่จะไม่มีค่าใช้จ่าย เด็กก็จะได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ และก็จะได้ผลงานของเขากลับไป ผู้ปกครองก็จะนำเด็กมาที่นี่ในช่วงเสาร์ อาทิตย์ ปิดเทอม และหลังเลิกเรียนเพิ่มมากขึ้นเพราะเชื่อมั่นว่าเป็นพื้นที่ดีที่ลูกๆ ของเขาได้มาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เราจัดให้ โดยกิจกรรมในวันธรรมดาจะเน้นในเรื่องของศิลปะตามอัธยาศัย ส่วนวันหยุดก็จะมีกิจกรรมพิเศษ เช่นการอบรมมัคคุเทศก์น้อย การสอนภาษาต่างประเทศ การเล่านิทานพื้นบ้าน” บรรณารักษ์ผู้อารีย์ระบุ

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้จัดการสถาบันรามจิตติ และหัวหน้าโครงการ Child Watch เผยว่าโครงการบ้านหลังเรียนมีประโยชน์ในแง่ของการทำให้เด็กมีพื้นที่ทางเลือกที่สร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้เด็กมีพื้นที่ๆ มาทำกิจกรรม ได้มาเรียนรู้ในสิ่งดีๆหลังเลิกเรียน ซึ่งบ้านหลังเรียนสามารถตอบโจทย์ปัญหาของเด็กในสมัยนี้ในเรื่องของการมีเวลาเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ

“เราขยายผลให้เกิดบ้านหลังเรียนในพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้น 20-30 แห่งในปีนี้และคาดน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัวภายในหนึ่งปีข้างหน้า จริงๆ แล้วแนวคิดบ้านหลังเรียนนั้นเหมาะสำหรับกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ถ้ากทม.เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ และใช้พื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงทำให้เกิดพื้นที่บ้านหลังเรียนได้ คิดว่าน่าจะตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับเด็กในกรุงเทพฯ ได้” ผอ.สถาบันรามจิตติ สรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น