“ชัยวุฒิ” ชูหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ประถม - ม.ต้น สร้างเยาวชนนักวิจัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นำร่องโรงเรียน 100 แห่ง เตรียมขยายหลักสูตรเพิ่มเติมทั่วประเทศ
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และชุดสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบขึ้นเป็นรายวิชาหนึ่งในระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งประกอบด้วย หนังสือเรียน คู่มือครู และหลักวิธีการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ครูผู้สอนสามารถนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ไปประยุกต์ใช้จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม (รายปี) ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2551 และสามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 2 ปี ได้ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องแล้วกว่า 100 แห่ง พร้อมทั้งได้รับการปรับปรุง และเตรียมที่จะขยายหลักสูตรเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในโรงเรียนให้กว้างขวางทั่วประเทศ
“สิ่งที่คาดหวังคือให้หลักสูตรดังกล่าวเน้นเรื่องการปลูกฝังให้เยาวชนและชุมชน มีความเอาใจใส่กับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่มนุษย์กระทำไปนั้น มีผลกระทบเกิดขึ้นทุกด้าน ตั้งแต่ชั้นบรรยากาศ น้ำ ดิน และสิ่งมีชีวิต ไม่ว่ามีอยู่มากหรือน้อย จึงอยากให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ให้มาก และเพื่อต้องการเน้นการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สืบเสาะหาความรู้ในสภาพแวดล้อมท้องถิ่นตามความสนใจ โดยใช้กระบวนการสำรวจ ตรวจสอบ และทำวิจัย (Research Base) ด้วย” รมช.ศธ. กล่าว
นางมลิวัลย์ เลาหสูต ครูผู้ชำนาญพิเศษหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ โรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 กล่าวว่า ในส่วนร.ร.กันทรลักษ์ ได้รับคัดเลือก จาก สสวท. ให้เป็นโรงเรียนแกนนำการใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ดีเด่น ประจำปี 2551 โดยทางโรงเรียนได้นำหลักสูตรนี้เพื่อจัดการเรียนการสอน วิชาวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มสาระเพิ่มเติม ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยจัดให้นักเรียนได้มีโอกาสในการทำวิจัยขึ้นมาด้วยตนเอง อาทิ การศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของดินบริเวณหมู่บ้านหนองหญ้าลาด และหมู่บ้านซำตารมย์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งจากการทำวิจัย เด็กได้ทราบถึงข้อสังเกตที่ว่าทำไม ดินแต่ละบริเวณถึงมีความอุดมสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน ทราบถึงเนื้อดินในความเป็นกรด – ด่าง รวมทั้งสัตว์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ ถือว่าข้อสังเกตเหล่านี้เป็นการช่วยปูพื้นฐานในการทำวิจัยให้แก่นักเรียนหรือผู้ร่วมโครงการวิจัย ต่างๆ
ด้าน ด.ญ.สุธิชา นิภัทรสกุล อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ร.ร.กันทรลักษ์วิทยา กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ จากความคิดเห็นที่ได้เรียนนั้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้ทักษะ กระบวนการแก้ไขปัญหา และกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยอาจารย์ผู้สอนจะฝึกในเรื่องของการเขียนโครงงานวิจัย
“ส่วนตัวคิดว่า เป็นการฝึกในการทำวิจัยตั้งแต่ยังเยาว์วัย เรียนรู้พื้นฐานในการทำวิจัย ขั้นตอนในการทำวิจัยก็จะมีอยู่ 7 ขั้นตอน อาทิ การคิดค้น การตั้งสมมตฐาน การเก็บข้อมูล ข้อสรุปผลของงานวิจัย สุดท้ายเรื่องการรายงานผลการวิจัย ถือว่าเป็นกระบวนการทางความสามารถของการอยากรู้อยากเห็นโดยเริ่มมาจากเด็ก อีกทั้งขั้นตอนในทำวิจัยจะมีผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมกันระดมความคิดด้วย” ด.ญ.สุธิชา กล่าว