โมโนเรลสายแรกคืบ กทม.ถกจุฬาปรับลดเหลือ 3 สถานีจากจามจุรีสแควร์ถึงสยามสแควร์มีสถานีกลางอยู่ที่เตรียมอุดมฯ คาดใช้งบกทม.ปี 54 ไม่เกิน 1,800 ล้านบาทโดยไม่พึ่งไทยเข้มแข็ง แต่ยังไม่สรุปวิ่งสวนทางที่สถานีกลางหรือวิ่งทางเดียว พร้อมตั้ง คกก.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ดูแลหาบเร่แผงลอย และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน “ธีระชน” ระบุเห็นเป็นรูปธรรมปลายปีหน้าชัวร์
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail ว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ โดยประกอบด้วย คณะอนุกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงพื้นที่ 10 ไร่ของจุฬาฯและบริเวณโดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยจะทำงานร่วมกับกทม.ในการปรับปรุงพื้นที่ 2.คณะอนุกรรมการจัดสรรการให้ กทม.ใช้พื้นที่ของจุฬาฯในการตั้งสำนักงานเขตปทุมวัน สถานีดับเพลิง โดยมีเป้าหมายรวมเป็นเป็นศูนย์ราชการภายในแห่งเดียว 3.คณะอนุกรรมการดูแลหาบเร่แผงลอยคณะพาณิชย์สาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงจุฬาฯซอย 5 ซึ่งตรงจุดนี้จะจัดให้เป็นถนนคนเดินด้วย และ 4.คณะอนุกรรมการดูแลระบบเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระหว่างสายรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว และรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน
นายธีระชน กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางเดินรถโมโนเรล จากเดิมที่ได้กำหนดไว้ให้มีทั้งหมด 4 สถานีได้ปรับรถให้เหลือ 3 สถานี ได้แก่ สถานี CU1 จามจุรีสแควร์ CU2 เตรียมอุดมศึกษา และ CU3 สยามสแควร์ รวมระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โดยในส่วนของรางวิ่งนั้นทางจุฬาฯ เห็นว่าควรที่จะให้ก่อสร้างเพียงรางเดียวซึ่งจะทำให้รถไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ต้องรอให้วิ่งจนสุดเส้นทางแล้วค่อยกลับมาใหม่ ขณะเดียวกัน ทางที่ปรึกษาของ กทม.ได้เสนอว่าหากจะไม่ให้มี 2 รางคู่ขนานกันก็ควรที่จะให้สถานี CU2 เตรียมอุดมศึกษามี 2 รางเพื่อให้รถสามารถวิ่งสวนทางกันได้ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาในการรอนานขึ้น ทั้งขาไป-กลับจะต้องใช้เวลา 15 นาที แต่หากให้มีรถสวนกันได้ก็จะลดเวลาเหลือ 7.5 นาที
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ทางจุฬาฯจะต้องไปรับฟังความคิดเห็นของประชาคมในพื้นที่ทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬา โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ก่อนซึ่งจะสรุปเรื่องนี้อีกครั้งในการประชุมคราวหน้าวันที่ 15 มกราคม 2553
นายธีระชนกล่าวต่อว่า สำหรับขบวนรถจากเดิมที่จะให้มีจำนวน 7 ขบวนนั้นก็ได้มีการปรับลดลงเช่นกันโดยให้เหลือเพียง 3 ขบวน คือวิ่งขาไป 1 ขบวน ขากลับ 1 ขบวน และสำรอง 1 ขบวนซึ่งแต่ละขบวนจะมี 2 ตู้โดยสารที่สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ตู้ละ 180 คน ซึ่งหากประมาณการ 1 ชั่วโมงจะสามารถขนผู้โดยสารได้เกือบ 3,000 คน หากคิด 8 ชั่วโมงขนคนได้ประมาณ 20,000 กว่าคน ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่จอดรถนั้นทางจุฬาฯได้เสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณสามย่าน ทั้งนี้ จากการปรับลดโครงการลงทำให้ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการลดลงด้วยเหลือเพียง 1,500-1,800 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะสามารถใช้งบประมาณของ กทม.ในการก่อสร้างเองทั้งหมดได้โดยไม่จำเป็นต้องของบไทยเข้มแข็ง ซึ่งตนคาดว่าจะสามารถนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม.เพื่อขอใช้ปีงบประมาณ 2554 อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนเพราะมูลค่าฌครงการไม่ถึง 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในปลายปี 2553 แน่นอน