xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมยกเลิกสอบบรรจุครูเหลือปีละครั้ง เอาใจ ร.ร.เอกชนหลังครูแห่ลาออกเป็น ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ชินภัทร” เผยเขตพื้นที่ 28 เขต พบอัตราครูว่าง 535 ตำแหน่ง ยันโรงเรียนขาดครูเรียกบรรจุผู้ขึ้นบัญชี 2 บัญชีเพียงพอ ไม่ส่งผลกระทบ เตรียมยกเลิกสอบบรรจุเดือน ก.พ. หลัง ก.ค.ศ. กำหนดสอบปีละครั้งในเดือน เม.ย.เท่านั้น เอาใจ ร.ร.เอกชน เหตุมีเสียงบ่นสอบหลายครั้งทำครูแห่ลาออกสอบเป็นข้าราชการเพียบ พร้อมมอบ สพร.ทำข้อมูล หาแนวทางจัดการ บริหารตัวบุคคลในอีก 5-7 ปีข้างหน้า

วันนี้ (15 ธ.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการสอบแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วยในครั้งที่ 2/2552 ซึ่งขณะนี้มีเขตพื้นที่การศึกษาอย่างน้อย 28 เขตที่มีอัตราว่างอยู่จำนวน 535 ตำแหน่ง ใน 33 กลุ่มวิชา ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการสอบแข่งขันและขึ้นบัญชีเพื่อรอการบรรจุอยู่แล้ว 2 บัญชีคือ ครั้งที่ 1/2551 ที่มีผู้ขึ้นบัญชีรอการบรรจุอยู่ 7,345 คน และจะครบกำหนดขึ้นบัญชี 2 ปีในเดือน พ.ค.2553 นี้ ขณะที่อีกบัญชีในครั้งที่ 2/2552 มีผู้ขึ้นบัญชีรอการบรรจุอยู่จำนวน 16,660 คน และจะครบกำหนดในเดือน มิ.ย.2554 นี้ ที่ประชุมจึงเห็นว่าทั้ง 2 บัญชีนี้ยังเพียงพอกับการที่หน่วยงาน หรือ โรงเรียนที่มีอัตรา ตำแหน่งว่างสามารถที่จะเรียกมาบรรจุได้ โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ

ทั้งนี้ ต่อไปคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะมีการกำหนดให้การสอบบรรจุมีขึ้นปีละครั้งในเดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้มีผู้สำเร็จการศึกษารุ่นจบใหม่สามารถเข้าสอบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีเสียงเรียกร้องมาจากโรงเรียนเอกชนว่า การสอบหลายครั้งเหมือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะการสอบกลางปีมีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากครูจะลาออกมาเพื่อสอบเป็นข้าราชการ ดังนั้น เพื่อให้สมประโยชน์ในหลายฝ่าย และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.ที่จะออกมาในอนาคต ที่ประชุมจึงเห็นว่าจากเดิมที่มีการวางแผนให้จัดสอบในเดือน ก.พ.นี้ ให้รอไปก่อน โดยมาสอบในเดือนเมษายนตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อให้เกิดผลดี ไม่ส่งผลต่อโรงเรียนเอกชนตามที่ร้องขอมา

“โรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างก็สามารถใช้บัญชีที่ขึ้นอยู่แล้วได้เลย อย่างไรก็ตาม เรื่องการบริหารบุคคลสำคัญที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องครูกระจุกตัว ครูเกิน บางเเห่งขาดครู ซึ่งการบรรจุยังไม่สอดคล้องตามแผนของโรงเรียน บางแห่งบรรจุในตำแหน่งที่มีครูอยู่แล้ว และเขตพื้นที่เองก็มีการบริหารงานกรอบอัตรากำลังที่ไม่ตรงไปตรงมา มีการบริหารไม่ชัดเจน ซึ่งภาพรวมที่มองเห็นคือยังไม่มีการเตรียมการเท่าที่ควร และจากข้อมูลพบว่าในอีก 5-7 ปีข้างหน้า จะมีครูเกษียณอายุราชการกว่าแสนคน ดังนั้นการควบคุมกรอบอัตรากำลังภาครัฐ เพื่อการกระจายครูในพื้นที่ที่ขาดแคลนหากยังไม่มีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดปัญหาได้” เลขาฯ กพฐ.กล่าว

นายชินภัทรกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ส่วนกลาง เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ต้องร่วมกันดำเนินการ โดยส่วนกลางได้มอบให้สำนักงานพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.) เป็นผู้จัดเตรียมข้อมูล พร้อมทั้งหารือร่วมกับ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาการบริหารบุคลากรครูเพื่อให้เป็นรูปธรรม ในการเตรียมการอีก 5-7 ปีข้างหน้าด้วย ทั้งนี้ เขตพื้นที่การศึกษา และ โรงเรียนจะต้องมีแผนการจัดการอัตรากำลัง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดการแต่งตั้ง บรรจุ ซึ่งจะเป็นไปตามแผนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนอาจนำไปสู่ช่องทางในการหาผลประโยชน์ในการบรรจุอัตรากำลังได้

“ทาง สพร.ต้องสรุป วิเคราะห์แนวโน้มประชากรวัยเรียน และครู ให้สอดคล้องกัน ซึ่งเมื่อประชากรวัยเรียนเพิ่มขึ้นจำนวนของครูก็ต้องขึ้นตามในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่ตอนนี้จำนวนประชากรวัยเรียนเท่าเดิม แต่ครูกลับมีอัตรากำลังที่ลดลง ซึ่งต้องเสนอ คปร.ให้รับทราบถึงสภาพปัญหา เพื่อช่วยในการวางแผนบริหารตัวบุคคลในอนาคต และเชื่อว่าจะได้มาตรการที่ดีที่สุดต่อไป” เลขาฯ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น