xs
xsm
sm
md
lg

เตือน!หนาวนี้ระวังเด็กป่วยปอดบวม เข้มกลุ่มเสี่ยงอายุไม่เกิน 1 ขวบ-หัวใจพิการแต่กำเนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เตือนผู้ปกครองระวังเด็กป่วยปอดบวมช่วงหน้าหนาว สั่งดูแลเข้มเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ เด็กขาดสารอาหาร เด็กน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชี้หากป่วยส่งผลอาการรุนแรง ชี้พบ ไข้สูง ซึม ไม่กินน้ำ ไม่กินนม ไอ หายใจ หอบเร็ว หายใจมีเสียงฮืดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม รีบนำส่งแพทย์ ระบุปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 50,000 ราย เสียชีวิตกว่า 47 ราย

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่กำลังหนาวเย็นขณะนี้จะมีเด็กป่วยในช่วงนี้กันมาก โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบหายใจในเด็ก ได้แก่ไข้หวัด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคที่รุนแรงที่ต้องระมัดระวังในเด็กก็คือโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก เป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มโรคติดเชื้อทั้งหมด ในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 2 ล้านคน ดังนั้นจึงขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะเด็ก 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี, เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย, เด็กขาดสารอาหาร, เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หากป่วยเป็นโรคปอดบวมจะมีอันตรายมาก อาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าเด็กปกติทั่วไปมาก

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของโรคปอดบวมในเด็กไทยเกือบครึ่งหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส ที่เหลือเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) โดยเชื้ออาจทำให้ปอดอักเสบโดยตรงหรือเกิดแทรกซ้อนหลังจากที่ป่วยเป็นไข้หวัดก็ได้ ในเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากกว่าไวรัส จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วประเทศ ในปี 2552 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม มีรายงานผู้ป่วยโรคปอดบวมทุกจังหวัดรวม 118,389 ราย เสียชีวิต 861 ราย โดยผู้ป่วยร้อยละ 43 หรือ 51,929 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต 47 ราย

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากเด็กเล็ก ไม่สบาย พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกกล่าวอาการเจ็บป่วยของตนเองได้ และอาจมีโอกาสมีปอดบวมแทรกซ้อนได้ โดยวิธีการดูแลเด็กที่เป็นหวัด ขอให้ดื่มน้ำหรือนมบ่อยๆ ให้เด็กนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ย่อยง่าย หากมีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาและอาจให้กินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล อาการไข้หวัดจะค่อยๆดีขึ้นและหายป่วยประมาณ 1สัปดาห์ แต่หากไม่ดีขึ้น โดยเด็กมีอาการซึมลง ไม่กินน้ำไม่กินนม มีอาการไข้สูง ไอ หายใจหอบเร็ว หายใจมีเสียงฮืดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ซึ่งเป็นสัญญานของอาการปอดบวม ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายต่างๆ จะน้อยลง

"การป้องกันโรคปอดบวมในช่วงฤดูหนาว ขอให้ผู้ปกครองดูแลความอบอุ่นให้เด็ก โดยสวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือเสื้อกันหนาว หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กเข้าไปในบริเวณที่ชุมชนแออัดหรือมีควันไฟในบ้าน ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นหวัดได้ง่าย นอกจากนี้ สามารถเพิ่มภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติเด็กได้ โดยหญิงหลังคลอด ขอแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งภูมิต้านทานจากแม่จะส่งผ่านไปให้ลูกทางน้ำนม เด็กจะไม่เจ็บป่วยง่าย" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น