xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานเน้นสัมพันธ์เชิงรุกลดความขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงานมอบหน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินนโยบายแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ลดความขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้าง โดยเฉพาะช่วงธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นเดือนของการปรับค่าจ้าง จ่ายโบนัส ตั้งเป้าลดความขัดแย้งมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนทั้งในและต่างชาติ

นายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินงานนโยบายแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก คือ ให้หน่วยงานกระทรวงแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็นเดือนของการปรับค่าจ้างประจำปี การพิจารณาเงินโบนัสประจำปี ซึ่งมีทั้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานเอกชน ประมาณ 1,187 แห่ง และข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างที่ไม่มีสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ ให้กรมสวัสดิการฯ เร่งให้นายจ้างและลูกจ้างเปิดการพูดคุยเจรจาทำความเข้าใจกันถึงความเป็นไปได้ท่ามกลางการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ และขอร้องอย่าใช้การกระทำที่รุนแรงผิดกฎหมายแรงงาน และกฎหมายอื่น ๆ เพราะในปี 2552 ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับลูกจ้างที่ปิดล็อกโรงงาน การปิดถนน การใช้ถ้อยคำรุนแรงหมิ่นประมาท เพราะเมื่อเกิดเป็นคดีความอาญาแผ่นดินแล้ว กระบวนการทางกฎหมายไปยกเลิกยกเว้นไม่ได้ และอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงแรงงานที่จะไปขอความอนุเคราะห์ใดๆ

ในรอบปี 2552 มีสถานประกอบกิจการเกิดข้อพิพาทแรงงาน 78 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 42,210 คน สามารถไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทแรงงานได้ 72 แห่ง 39,198 คน สถานประกอบการที่เกิดการขัดแย้งแรงงาน 165 แห่ง 117,334 คน ไกล่เกลี่ยยุติข้อขัดแย้งแรงงานได้ 15 แห่ง 105,877 คน โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้ลดความขัดแย้งลงมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีกระบวนการต่าง ๆ มีสร้างพื้นฐานความเข้าใจและความมั่นคงปลอดภัย ความไว้ใจทั้ง 3 ฝ่าย ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน สำหรับกรณีมีปัญหาข้อขัดแย้งแรงงานเกิดขึ้น สามารถแจ้งสายด่วน 1506 หรือโทรศัพท์มือถือคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คือ 081-550-7302
กำลังโหลดความคิดเห็น