“จุรินทร์” เตรียมชง ครม.ใช้กลยุทธ์ลดหย่อนภาษีจูงใจคนไทยรักการอ่าน “นิติบุคคลซื้อหนังสือบริจาค ซื้อเข้าองค์กร หักได้ 2 เท่าหรือ 30%ของกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย ใครซื้ออ่านเองหรือบริจาค ลดภาษี 10,000 บาท” ขณะที่เจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่ต้องจ่าย vat ยาหอมคนไทยรอไม่นานเพราะรบ.เห็นความสำคัญ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครั้งที่ 5/2552 ว่า ตนจะลงนาม เรื่อง การลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่านในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้จะเสนอ 3 ส่วน ได้แก่ 1.ภาษีการบริจาคหนังสือ แยกเป็นส่วนนิติบุคคล กับ บุคคลธรรมดา สำหรับในส่วนที่เป็นนิติบุคคลนั้นจะเสนอขอให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน ร้อยละ 30 ของกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่น ส่วนบุคคลธรรมดานั้น ให้หักค่าบริจาคหนังสือได้ 2 เท่า ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน เพราะในปัจจุบันนี้สำหรับนิติบุคคล หักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน ร้อยละ 10 ส่วนบุคคลธรรมดาหักไม่ได้ ยกเว้นบริจาคเป็นเงินสด หักได้ไม่เกินร้อยละ 10
2.ซื้อหนังสือให้หน่วยงานตัวเอง ส่วนนิติบุคคล นั้น ค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือในองค์กร ให้หักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันหักภาษีไม่ได้ ส่วนบุคคลธรรมดา ถ้าซื้อหนังสืออ่านเองจากเดิมไม่ได้เลย เป็นสามารถหักภาษีได้ไม่เกิน 10,000 บาท
และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์หนังสือไม่ได้อยู่ในระบบ vat ทำให้เกิดปัญหา เวลาธุรกิจหนังสือ ซื้อวัตถุดิบ อย่างเช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เครื่องจักร และอื่นๆ แล้ว ต้องเสีย vat แต่ไปขอคืน vat ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ระบบ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหนังสือสูง ดังนั้น จะขอให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์มาอยู่ในภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ให้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 0
อย่างไรก็ตาม การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีผล 2 ประการ คือ ประการแรกเมื่อเข้ามาอยู่ในภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตหนังสือลดลง เพราะช่วงที่ซื้อวัตถุดิบเขาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เขาสามารถนำมาขอคืนได้ ประการที่ 2 จะช่วยให้ต้นทุนลดลง ซึ่งจะเป็นผลดี ในเมื่อต้นทุนการผลิตหนังสือลดลง จะช่วยให้การตั้งราคาขายถูกลง ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อหนังสือราคาถูกลงไปด้วย และไม่ต้องเสีย vat 7% เพราะภาษี vat เหลือ 0
“เมื่อผมเสนอเข้าสู่ ครม.แล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะขอความเห็นไปยังกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยใน ครม.มาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งเห็นชอบว่า ควรใช้ภาษีเป็นกลไกสำคัญในการจูงใจส่งเสริมการอ่าน มั่นใจว่าเรื่องนี้คงรอไม่นาน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล”
จากนั้น นายจุรินทร์กล่าวถึงการส่งเสริมการอ่าน โดยที่ประชุมมีมติว่า เดินหน้าทศวรรษการอ่าน ถือยุทธศาสตร์หลัก 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 5 แผน และยังมีโครงการต่างๆ อีก 20 โครงการ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการอ่านให้คนไทยทั่วประเทศ 2.สร้างนิสัยรักษาการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน และ 3.สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะมีแผนงานทั้งหมด 5 แผนงาน ในแต่ละแผนงานจะมีโครงการย่อยรวมทั้งสิ้น 20 โครงการ คือ 1.แผนงานรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน 2.แผนงานเพิ่มสรรถนะทางด้านการอ่าน 3.แผนงานสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน 4.แผนงานสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และ 5.แผนงานวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการอ่าน
สำหรับแผนรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน จะมี 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มอบหมายให้คณะทำงานไปกำหนดหัวข้อหลัก เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการรณรงค์ ซึ่งจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน 2.โครงการอ่านสะสมแต้ม จะรณรงค์ในทุกภาคส่วนและสาขาอาชีพ ได้อ่านหนังสือมากขึ้นโดยใช้กลยุทธ์สะสมแต้ม 3.โครงการอ่านเพื่อชีวิต หมายถึงการอ่านในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิต เช่น อ่านสลากอาหาร สลากยา สัญญาก่อนทำสัญญาใด ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยมาก 4.โครงการรณรงค์การอ่านในโอกาสสำคัญของประเทศ และ 5.คารวานส่งเสริมการอ่าน จะเป็นการเคลื่อนที่ไปยังชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ
ส่วนแผนงานเพิ่มสรรถนะทางด้านการอ่าน จะมี 7 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการบุ๊กสตาร์ท จะรณรงค์ให้อ่านตั้งแต่เด็กแรกเกิด 2.โครงการพัฒนาการอ่านในสถานศึกษา 3.โครงการพัฒนาการอ่านเพื่อการศึกษาตามอัธยาศัย 4.โครงการพัฒนาทักษะการใช้ E-book 5.โครงการคลินิกภาษาไทย 6.โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบความสามารถการใช้ภาษาไทย และ 7.โครงการพัฒนาครูภาษาไทย
แผนงานสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน จะมี 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาบุคลากรส่งเสริมการอ่าน เช่น บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆ 2.โครงการส่งเสริมการผลิตหนังสือดีมีคุณภาพเพื่อคนทุกวัย 3.โครงการแนะนำหนังสือดีที่ควรอ่าน 4.โครงการพัฒนาเว็บไซต์ชุมชนนักอ่าน และ 5.โครงการห้องสมุด 3 ดี
แผนงานสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน จะมี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย 2.โครงการจัดตั้งอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านทั่วประเทศ
แผนงานวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการอ่าน จะเน้นการรวบรวมและการสรุปประสบการณ์ งานวิจัยต่างๆ ของทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ผ่านมา เพื่อนำใช้ในการส่งเสริมการอ่านของประเทศต่อไป ให้เป็นทศวรรษของการอ่าน รวมทั้งทำงานวิจัยในประเด็นที่สำคัญๆ
“จะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป มีโครงการต่อเนื่อง 5 ปี และ 10 ปี โดยงบประมาณจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน อีกส่วนจะเป็นงบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี กศน.เป็นหลักในการรับผิดชอบ และตนได้ลงนามตั้งสำนักงานส่งเสริมรักการอ่านภายใต้การดูแลของ กศน.” รมว.ศธ กล่าว